BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 |  

︎BKKABF2023 VISIT

Venue : Asia Hotel Bangkok


Event Dates :

BKKABF Symposium :
Thursday 30.NOV.2023
13.00 – 17.00

BKKABF Fair Dates :
Friday 01.DEC. – Sunday 03.DEC.2023

BKKABF Fair Hours :
13.00 – 20.00

Ticket :
General Public : 150 THB/day
Students : 100 THB/day
Children Under 12 : Free entry
For more information, please contact :
contact@bangkokartbookfair.info

© 2023 BKKABF
Initiated by STUDIO150 in partnership with BANGKOK CITYCITY GALLERY since 2017, BANGKOK ART BOOK FAIR (BKKABF) is an annual event aimed to bring together self-publishing and co-creating community to contribute in discovering and exchanging ideas, cultural ideals, and artistic aspirations.


A
BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 |  

︎UPDATE  ︎EXHIBITOR  ︎VISIT
︎PAST EVENT

A
A
เรื่อง : เดือนเพ็ญ จุ้ยประชา
ภาพ : เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล


ในระบบนิเวศของสิ่งพิมพ์อิสระ นอกจากการสร้างสรรค์เนื้อหาและงานออกแบบที่เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการผลิตชิ้นงาน ‘การพิมพ์’ ก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะต่อให้ออกแบบมาดีแค่ไหน หากกระบวนการพิมพ์ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการหรือเงื่อนไขของนักออกแบบได้ สิ่งพิมพ์ชิ้นนั้นก็อาจไม่เป็นรูปเป็นร่างหรือสื่อสารความตั้งใจของผู้สร้างสรรค์ได้อย่างครบถ้วน

โจทย์หรือเงื่อนไขที่ว่าไม่ได้ครอบคลุมเพียงเทคนิคการพิมพ์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเข้าถึงการพิมพ์ ต้นทุนการพิมพ์ และบทสนทนาที่อาจนำไปสู่การช่วยให้สิ่งพิมพ์อิสระชิ้นนั้นๆ สมบูรณ์แบบขึ้น

และหนึ่งในเทคนิคที่ทำให้คนเข้าถึงการพิมพ์ได้มากขึ้น ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าการพิมพ์ในระบบโรงพิมพ์และการไม่มีจำนวนพิมพ์ขั้นต่ำคือ ‘ริโซกราฟ (Risograph)’ เครื่องพิมพ์สัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งค่อยๆ เริ่มเป็นที่นิยมในเมืองไทยช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา พร้อมๆ กับที่มีสตูดิโอริโซกราฟผุดขึ้นทีละนิด และนักสร้างสรรค์หน้าใหม่ที่หัดใช้เทคนิคนี้เยอะขึ้น

ท่ามกลางสตูดิโอริโซกราฟในประเทศไทย Witti Studio คือหนึ่งในสตูดิโอรุ่นแรกที่เปิดให้บริการมาเกือบๆ 5 ปี และนำสิ่งพิมพ์มาแสดงใน BANGKOK ART BOOK FAIR อย่างต่อเนื่องรวมถึงในเทศกาลฯ ปีนี้ด้วย นอกจากจะรับผลิต พวกเขายังจัดเวิร์กช็อปให้ความรู้เชิงเทคนิค ไปเวิร์กช็อปและเยี่ยมชมสตูดิโอริโซกราฟที่ต่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และยืนหยัดเป็นหนึ่งทางเลือกให้นักออกแบบสิ่งพิมพ์อิสระได้มีที่ทางในการทดลองการพิมพ์ใหม่ๆ ต่อยอดพัฒนาชิ้นงานของตัวเองให้มีความสนุก ท้าทายขึ้น



ก่อนเทศกาลฯ จะเริ่มต้นขึ้นในอีกไม่กี่วัน เพื่อทำความเข้าใจเรื่องการพิมพ์อิสระมากขึ้น เราจึงไปพูดคุยกับ วิทมน นิวัติชัย และ สันติ ตันสุขะ ผู้ก่อตั้ง Witti Studio ที่สตูดิโอของพวกเขาในย่านที่ผสมผสานชุมชนคนไทยและญี่ปุ่นอย่างสุขุมวิท 32 ถึงมุมมองที่พวกเขามีต่อแวดวงสิ่งพิมพ์อิสระไทยและต่างประเทศ การเข้าถึงริโซกราฟ และการสนับสนุนแวดวงสิ่งพิมพ์ไทยให้เติบโตในแบบของเราเอง


Q : จากที่พวกคุณได้ไปคลุกคลีกับแวดวงริโซกราฟที่ต่างประเทศ เมื่อเทียบกับบ้านเราพวกเขารุดหน้าไปทางไหนหรือมีแง่มุมอะไรที่น่าสนใจอีกบ้าง

วิทมน : ที่ผ่านมาแต่ละประเทศต่างทำริโซกราฟกันหมดโดยเฉพาะในเอเชีย หลังๆ เราจึงไม่ค่อยรู้สึกถึงการตามหลังหรือไม่ตามหลังในแง่เทคนิคเพราะไม่ได้เห็นตรงนั้นชัดเท่ากับ ‘เรื่องราว’

บ้านเรายังมีการผลิตสิ่งพิมพ์อิสระในรูปแบบที่จำกัด เรามักสนใจด้านภาพ (visual) มากกว่าประเด็นเฉพาะเจาะจงของซีน (zine) หรือหนังสืออิสระ ทั้งที่มันเป็นสิ่งพิมพ์ที่สามารถทำหัวข้อหรือประเด็นที่เจาะจงลงไปได้ เราไม่ค่อยเห็นซีนที่ทำเกี่ยวกับเพลงลูกทุ่งหรือของเล็กๆ ที่ไม่สามารถอ่านในหนังสือที่ขายตามร้านหนังสือ ถ้าเรามองไปยังประเทศอื่นๆ เอาแค่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เขาเขียนเก่งชะมัดเลย คือทั้งๆ ที่ดีไซน์เราสู้ได้นะแต่เราขาดแคลนงานเขียน


Q : คิดว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น

วิทมน : พอหันมามองตัวเอง เราก็เป็นนะ คือเรามักจะหลีกเลี่ยงการเขียนเพราะเราไม่ค่อยมั่นใจ อาจเป็นเพราะว่าลักษณะการเรียนของเรา ส่วนมากการเรียนเขียนจะเป็นการเขียนในแบบที่มีมาตรฐานบางอย่าง เป็นภาษาราชการ เราอาจจะเคยเรียนการเขียนเรื่องสั้นในโรงเรียนบ้างแต่ก็น้อยมาก แล้วพอเราไม่ใช่นักเขียน จะไปทำงานเขียนเป็นเล่มเราก็อาจจะรู้สึกเกร็ง แต่ว่าในวัฒนธรรมของการทำซีน ทุกคนต้องคิดว่าการเขียนเป็นแค่วิธีการแสดงออกรูปแบบหนึ่ง



ในขณะเดียวกัน คนทำงานเขียนก็กลัวทำหนังสือไม่สวยเลยไม่กล้าทำซีนหรือสิ่งพิมพ์อิสระ ดังนั้นเราคิดว่าเวทีอาร์ตบุ๊กแฟร์ในอนาคตก็น่าจะจับมือให้คนสองฝั่งมาทำงานด้วยกัน หรือเพิ่มให้คอมมิวนิตี้มันโอบรับคนหลากหลายขึ้น ถ้าเราเติบโตในเชิงตัวหนังสือได้เท่าๆ กับงานภาพเราคิดว่างานของไทยจะน่าสนใจสุดๆ


Q : คุณเคยบอกว่าการเติบโตของริโซกราฟในไทยเป็นไปแบบเรื่อยๆ คิดว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้คนไทยยังเข้าถึงริโซกราฟได้ไม่มากนัก หรือไม่เลือกใช้เทคนิคนี้ทั้งที่หากพิมพ์จำนวนมากจะสามารถพิมพ์ได้ในราคาถูกกว่าปรินท์แบบออนดีมานด์

วิทมน : ริโซกราฟมันเรียกร้องให้คนที่สนใจจะพิมพ์งานต้องมุ่งมั่นอยากทำงานจริงๆ เพราะการเตรียมไฟล์ยากกว่าเทคนิคการพิมพ์ทั่วไป เขาต้องแยกเลเยอร์สีมาให้เรา หลายๆ ครั้งเราก็เจอน้องๆ ที่ท้อจนไม่เอาแล้ว แต่ขณะเดียวกันก็มีบางคนที่มาพิมพ์ครั้งแรกด้วยเทคนิคการออกแบบที่ไม่ได้ซับซ้อนมาก แต่พอเข้าใจกระบวนการก็กลับไปทำงานที่ยากขึ้นมาพิมพ์ และพอเราปล่อยงานในโซเชียลฯ คนที่เห็นเขาก็อยากลองทำบ้าง โดยรวมเราคิดว่าการขยายของริโซกราฟก็เป็นไปอย่างช้าๆ สนุกๆ ทั้งโลกแหละ



อีกอย่าง อาจเป็นเรื่องของภาพจำด้วยที่ว่างานสิ่งพิมพ์ทุกชิ้นต้องออกมาเหมือนกันแบบไม่มีที่ติซึ่งเป็นความเพอร์เฟ็กต์ที่ริโซกราฟให้ไม่ได้เพราะมันต้องพิมพ์ทีละสีซ้อนกัน ฉะนั้นสำหรับกลุ่มนักออกแบบที่ทำงานกับลูกค้าหรือว่าทำงานในโปรเจคต์ที่ต้องการความสมบูรณ์แบบ ริโซกราฟก็จะเป็นอุปสรรคสำหรับเขา แต่ถ้าคุณอยู่ในกลุ่มที่ความไม่สมบูรณ์แบบคือความสมบูรณ์แบบ เราก็เป็นเพื่อนกัน


Q : ในแง่ของคนที่จะเปิดสตูดิโอริโซกราฟ การเข้าถึงทรัพยากรการพิมพ์ริโซกราฟมีความยาก-ง่ายยังไง

สันติ : บ้านเรามีข้อดีตรงที่หาอุปกรณ์หาของไม่ยาก มีตัวแทนผู้จัดจำหน่ายเครื่องพิมพ์ริโซกราฟที่รับประกันดูแลเครื่องให้ ซึ่งตัวแทนแบบนี้ก็ไม่ได้มีทุกประเทศ เรามีผู้แทนจำหน่ายกระดาษที่อิมพอร์ตกระดาษมาจากทั่วโลก มีเครือข่ายโรงพิมพ์ที่ทำเทคนิคได้เกือบทุกอย่าง พูดง่ายๆ ว่าตอนนี้ถ้ามีเงินก็ซื้อเครื่องพิมพ์มาตั้งที่บ้านได้เลย



เพียงแต่มันก็มีเรื่องต้นทุนเรื่องอื่นๆ ทั้งต้นทุนในการซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เช่น หมึกของเครื่องริโซเป็นน้ำมันกับน้ำ ถ้าไม่ได้ใช้นานๆ มันก็จะแยกตัวกัน หรืออุปกรณ์อื่นๆ ถ้าไม่ได้ใช้งานก็อาจเสียหายได้ ดังนั้นเราควรต้องมีงานพิมพ์อย่างต่อเนื่องเพื่อใช้งานมันตลอดเวลา นอกจากนี้รายจ่ายก้อนใหญ่ๆ คือสเปซ เพราะเราต้องมีพื้นที่ให้คนเข้ามาพิมพ์ได้ รวมถึงต้นทุนเรื่องความเชี่ยวชาญ ซึ่งก็เหมือนงานอื่นๆ คือความเชี่ยวชาญจะมีได้ก็ต่อเมื่อคุณมีของ มีเครื่อง แล้วได้ทำงานพิมพ์ อย่างเราเอง ถ้าเทียบกับตอนแรกที่เปิดสตูดิโอ ทักษะความเชี่ยวชาญของเราตอนนี้ย่อมต้องมากกว่าตอนนั้นอยู่แล้ว จากการเรียนรู้ระหว่างทางที่ได้ทำงานของเราและให้บริการคนอื่น



วิทมน : ข้อดีทีริโซกราฟมันกระจายไปทั่วโลกเพราะว่ามันทำให้คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาซื้อเครื่องแล้วไปตั้งที่ไหนก็ได้ ตั้งในห้องครัวก็ได้ ใครอยากมีเครื่องแบบเราก็สามารถทำได้ทันทีเลย แต่คำถามสำคัญคือซื้อมาแล้วมีความต้องการใช้งานมันหรือเปล่า ตรงนี้เลยอาจเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนยังชะลออยู่


Q : จากที่คุณคลุกคลีในวงการนี้มา ดีมานด์ริโซกราฟในต่างประเทศเป็นอย่างไร

สันติ : เรื่องของดีมานด์หรือความต้องการริโซ่กราฟมันแตกต่างกันในแต่ละโซนของโลก เช่น ในอเมริกาหรือยุโรปจะไม่ได้มีบริการร้านปรินท์ออนดีมานด์เยอะเท่าเมืองไทยและราคาก็แพงมาก ริโซกราฟเลยเหมือนจะเป็นทางเลือกที่โดดเด่น มีคนมาใช้บริการค่อนข้างเยอะ ในไทยทั้งประเทศน่าจะมีสตูดิโอริโซกราฟอยู่แค่ 5-6 สตูดิโอแค่นั้นเอง แต่สตูดิโอริโซกราฟในยุโรปหรือในอเมริกาเขามีเยอะและมีงานตลอดเวลา แล้วก็มีงานที่เป็นเล่มเยอะมาก

วิทมน : แต่ไม่ใช่ว่าเขาขายได้เยอะมากหรือคนของเขาอ่านเยอะกว่า เราพยายามที่จะไม่คิดโปรฝรั่งขนาดนั้น คือคนไทยก็เก่ง คนไทยก็อ่าน ไม่ใช่ไม่อ่าน


Q : แล้วทำไมบางประเทศจึงทำให้ความต้องการสิ่งพิมพ์อิสระแบบนี้เกิดขึ้นได้ เขาสนับสนุนคนทำสิ่งพิมพ์อิสระอย่างไร

วิทมน : ในหลายแห่งมีการสนับสนุนจากแหล่งเงินทุนของรัฐบาลที่ช่วยให้คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาทำงานสิ่งพิมพ์ได้ เราไม่อยากให้มองว่าการที่ตลาดของเขาเติบโตกว่าเพราะเขาเป็นชาติที่เจริญเนื่องจากมันมีปัจจัยอื่นๆ อย่างการสนับสนุนของรัฐ ซึ่งพอเขาสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานมันก็มีรากเหง้า สุดท้ายงานแนวนี้มันต้องใช้ทักษะซึ่งมันได้มาจากการทำบ่อยๆ หนังสือและการพิมพ์มันก็เริ่มจากชาติของเขา ในขณะที่เรามีประวัติศาสตร์สิ่งพิมพ์สั้นกว่ามันก็อาจจะต้องอาศัยเวลากว่า ถ้าไปเทียบกันมันก็ไม่แฟร์ มันเหมือนเราทำเมนูไข่ได้สองอย่าง อีกคนทำเมนูไข่ได้ 50 อย่าง เขาก็เริ่มอยากจะทดลองทำเพิ่ม เอาอย่างอื่นมาผสม เราคิดว่าความก้าวหน้าของเขาอยู่ตรงนั้น

ถ้าไปดูสตูดิโอริโซกราฟที่ฝรั่งเศส ที่นั่นเขามีคนเป็นสิบแล้วทำงานพิมพ์กันทั้งวัน ทุกวัน ส่วนหนึ่งเขาได้รับการสนับสนุน ทั้งจากประวัติศาสตร์การพิมพ์ของเขาที่มีมายาวนานกว่าหรือการมีต้นทุนที่ต่ำหรือกระทั่งไม่มีต้นทุนเลย

สันติ : พูดถึงการสนับสนุน อย่างร้านหนังสือในฝรั่งเศส รัฐบังคับให้ขายหนังสือราคาเท่ากันทุกร้าน คนก็อยากไปซัพพอร์ตร้านเล็กๆ มากขึ้น เราจะเห็นว่าแค่กฎหมายหรือนโยบายแบบนี้ก็ส่งผลกับภาพรวมระบบแล้วโดยที่ยังไม่ต้องพูดถึงเงินทุนเลยนะ

วิทมน : ถ้าตอนนี้คนในบ้านเราลุกขึ้นมาทำสิ่งพิมพ์อิสระก็จะเห็นแต่ความขาดแคลน ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีการศึกษาหรือไม่ได้ให้ความสนใจ เราแค่อาจต้องตั้งคำถามในภาพใหญ่ๆ ว่าถ้าประเทศอยากให้คนของเราเป็นแบบคนบ้านเขาก็ควรต้องทำอะไรบ้าง


Q : เวลาต่างชาติมองเข้ามายังริโซกราฟในไทย เขาสนใจหรือมีบทสนทนายังไงบ้าง

วิทมน : ถ้าดูจากคนที่มาซื้องานของเราเขามักมาหาดีไซน์ที่เป็นเราและสะท้อนถึงวัฒนธรรม ซึ่งอาจไม่ใช่ความไทยจ๋าตามขนบขนาดนั้นแต่เขาจะมองหาอะไรที่ไม่เหมือนเขา ส่วนถ้าเป็นเรื่องการมาใช้บริการ ด้วยความที่ราคาถูกและทำงานพิถีพิถันเขาก็น่าจะชอบในความละเอียดของเรา อย่างลูกค้าสิงคโปร์ก็บอกว่าเราพิมพ์ถูกและพิมพ์ดี



อีกอย่างคืองานไหนที่ยาก เราทำไม่ได้ เช่น งานเข้าเล่ม เราก็ส่งโรงพิมพ์ลูกศิษย์บ้าง โรงพิมพ์เพื่อนบ้านบ้าง ซึ่งเขาทำได้หมด คิดดูว่าขนาดรวมค่าพิมพ์และกระบวนการอื่นๆ บวกค่าส่งไปประเทศเขาอีก เขาก็ยังมาทำกับเราเลย มันทำให้เรารู้สึกว่าการผลิตของเราน่าจะโอเค นี่ก็เป็นช่องว่างหนึ่งที่ไม่มีใครมาสนใจเลยว่าเราสามารถทำสิ่งพิมพ์ที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมใหญ่ แต่เป็นสิ่งพิมพ์ที่ซัพพอร์ตวัฒนธรรมร่วมสมัยได้นะ และไม่ใช่แค่ในแง่ของผู้สร้างสรรค์อย่างเดียวเพราะเรายังผลิตได้ด้วย



Q : ทั้งที่แค่มาช่วยสนับสนุนเพิ่มอีกนิดแวดวงสิ่งพิมพ์อิสระบ้านเราก็อาจไปไกลกว่านี้แล้วใช่ไหม

วิทมน : เราคิดว่าหน่วยงานไทยควรจะไปเปิดโต๊ะในงาน Art Book Fair ในต่างประเทศแล้วส่งเด็กไทยไปได้แล้ว เพราะตอนนี้ในฐานะขององค์กรระดับประเทศเราก็ตามเขาไม่ทันแล้ว แต่ถ้าในหน่วยย่อยที่เป็นนักสร้างสรรค์เองเราคิดว่าไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับคนอื่นก็ได้เพราะทุกคนก็ทำงานกันอยู่

ประเทศเราจะไปปรากฏตัวในเวทีที่มีพรมแดงหรืองานที่ใหญ่มากๆ ตลอด ทั้งที่ความจริงแล้วเวทีเล็กๆ ก็มีความน่าสนใจ อย่างงาน BANGKOK ART BOOK FAIR บ้านเรา คนทำสิ่งพิมพ์อิสระของต่างประเทศยังมากันได้เลย บางคนได้รับเงินทุนสนับสนุนให้มาออกบูธด้วยซ้ำ ส่วน Witti Studio ที่ควรจะไปงานแบบนี้ของต่างชาติได้แล้วก็ยังไม่ไปเพราะคิดถึงการที่อาจจะเสียมากกว่าได้ การไปงานแบบนี้มีต้นทุนที่สูง อีกอย่างถ้ามัวแต่ไปงานเหล่านี้เราก็อาจไม่สามารถรับงานพิมพ์ได้เยอะ และพยุงสตูดิโอให้อยู่ได้นานๆ


Q : เป็นไปได้พวกคุณอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในวงการสิ่งพิมพ์อิสระของไทย

วิทมน : เราต้องสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมายืนหยัดในสิ่งที่อยากทำ มันอาจไม่ได้ยากหรือง่ายไปทุกครั้ง แต่ข้อดีของความเยาว์วัยคือการทำอะไรโดยไม่ต้องกลัว อยากชวนให้มาช่วยกันทำ เพราะไม่อย่างนั้นวัฒนธรรมนี้ก็ยังจะเล็ก เราอยากให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ เกิดเป็นการสร้างชุมชนขึ้นมา เพราะการเป็นชุมชนมันจะเอาชื่อมหาวิทยาลัย เพศ อายุ ออกไป เหลือแค่การที่เราชอบหนังสือเหมือนกัน มันไม่มีอะไรดีไปกว่าการสร้างชุมชนที่ทุกคนรู้สึกว่าตัวเองเป็นสมาชิกอีกแล้ว



Q : สุดท้ายนี้ ทำไมเราถึงควรผลักดันให้คนเข้าถึงสิ่งพิมพ์อิสระได้ง่ายขึ้น

วิทมน : เราคิดว่าสิ่งพิมพ์เป็นรูปแบบหนึ่งของการที่มนุษย์จะทิ้งความคิดไว้ในช่วงเวลาขณะหนึ่ง สมมติเราทำงานวันนี้แบบหนึ่งแต่อีกสิบปีข้างหน้าเราทำอีกแบบ เวลามองย้อนกลับมาเราจะเห็นความคิดของตัวเองที่เปลี่ยนไป



สันติ : และด้วยวัฒนธรรมความอิสระมันเปิดช่องให้ได้ทดลอง เปิดโอกาสให้คนที่ไม่เคยถูกนับรวมให้เข้าไปอยู่ในอะไรที่เป็นกระแสหลักได้มีโอกาสแสดงศักยภาพหรือความคิดบางอย่างออกมา ความที่มีช่องหลักและช่องรองนี้จะทำให้คนได้มีช่องทำอะไรมากขึ้น ซึ่งเราคิดว่ามันน่าส่งเสริมเพราะทุกคนไม่จำเป็นต้องทำอะไรในแบบเดียวกันเสมอไป