BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 |  

︎BKKABF2023 VISIT

Venue : Asia Hotel Bangkok


Event Dates :

BKKABF Symposium :
Thursday 30.NOV.2023
13.00 – 17.00

BKKABF Fair Dates :
Friday 01.DEC. – Sunday 03.DEC.2023

BKKABF Fair Hours :
13.00 – 20.00

Ticket :
General Public : 150 THB/day
Students : 100 THB/day
Children Under 12 : Free entry
For more information, please contact :
contact@bangkokartbookfair.info

© 2023 BKKABF
Initiated by STUDIO150 in partnership with BANGKOK CITYCITY GALLERY since 2017, BANGKOK ART BOOK FAIR (BKKABF) is an annual event aimed to bring together self-publishing and co-creating community to contribute in discovering and exchanging ideas, cultural ideals, and artistic aspirations.


A
BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 |  

︎UPDATE  ︎EXHIBITOR  ︎VISIT
︎PAST EVENT

A
A
เรื่อง : คาลิล พิศสุวรรณ
ภาพ : เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล


เมื่อพูดถึงสิ่งพิมพ์อิสระ หนึ่งในความท้าทายที่มักจะได้ยินอยู่บ่อยๆ คือ ‘การกระจายสินค้า’ เพราะลำพังแค่การมองหาร้านหนังสือที่พร้อมจะวางขายหนังสือของเราก็ยากแล้ว ไหนจะมีเรื่องกลุ่มคนอ่านที่มักจะกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ อีก การพาหนังสือแต่ละเล่มไปพบคนอ่านในพื้นที่ที่ใช่ไม่เคยเป็นอะไรที่ง่ายเลย

‘DREAMER FTY’ และ ‘Tara Books’ คือสองสำนักพิมพ์อิสระจากจีนและอินเดียที่ต่างก็มีจุดเด่นแตกต่างกันไป Tara Books เป็นที่รู้จักในฐานะสำนักพิมพ์ที่โดดเด่นจากหนังสือเด็กที่ผลิตด้วยเทคนิคการพิมพ์ Silk Screen สุดพิถีพิถัน ส่วน DREAMER FTY ก็สนุกกับการชักชวนศิลปินต่างๆ มาทดลองออกแบบสิ่งพิมพ์ไปด้วยกัน โดยที่ภายใต้หมวกอีกใบ พวกเขายังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง abC Art Book Fair หนึ่งในเทศกาลหนังสือศิลปะที่ใหญ่ที่สุดของจีน

เพราะทั้งคู่ต่างโลดแล่นอยู่ในวงการสิ่งพิมพ์อิสระในประเทศของตัวเองมาแล้วหลายปี มีประสบการณ์ในการพาหนังสือออกไปหาผู้อ่านในหลายดินแดน และเป็นผู้ร่วมเทศกาล BANGKOK ART BOOK FAIR ในปีนี้ เราจึงถือโอกาสชวนสองสำนักพิมพ์มาพูดคุยกันถึงเรื่องความเป็นมาของพวกเขา ความเป็นไปของวงการอาร์ตบุ๊คในจีนและอินเดีย ตลอดจนแบ่งปันว่า DreamerFTY และ Tara Books มีวิธีในการกระจายหนังสือของตัวเองอย่างไร



DREAMER FTY

DREAMER FTY คือสำนักพิมพ์อิสระจากประเทศจีนที่ไม่เพียงจะหลงใหลการทำหนังสือเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับสิ่งพิมพ์ในฐานะ ‘สื่อหลัก’ ของการผลิตผลงานต่างๆ และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งเทศกาลหนังสือศิลปะ abC Art Book Fair



“DREAMER FTY ก่อตั้งขึ้นในปี 2007 โดยโฟกัสของเราคือการร่วมงานกับศิลปินและตีพิมพ์โปรเจกต์ต่างๆ เป็นรูปเล่ม หนังสือแต่ละเล่มจะผ่านกระบวนการพูดคุยกับศิลปินตั้งแต่เรื่องคอนเซปต์ การวางเลย์เอาต์ ไปจนถึงประเภทของกระดาษที่ใช้ สำหรับเรา การทำหนังสือแต่ละเล่มก็เหมือนกับการได้ทำงานกับเพื่อนและสร้างความทรงจำดีๆ ที่จะอยู่กับเราไปอีกนาน” Yue Zhou ผู้ก่อตั้ง DREAMER FTY อธิบาย

Zhou เล่าว่า เธอก่อร่าง DREAMER FTY ขึ้นมาในช่วงที่กำลังจะเรียนจบมัธยมปลาย จากความคิดง่ายๆ ว่าอยากจะลองทำหนังสือเป็นของตัวเอง แต่การจะทำหนังสือสักเล่มในวัยแค่นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ไหนยังจะมีเรื่องทุนทรัพย์เข้ามาเกี่ยว Zhou เลยตัดสินใจเริ่มต้นโปรเจกต์แรกของ DREAMER FTY ด้วย e-magazine ที่ทำได้ง่ายกว่า

“ในตอนนั้น อินเตอร์เน็ตและนิตยสารออนไลน์กำลังได้รับความนิยมมากๆ ในประเทศจีน แล้วนิตยสารออนไลน์ก็เป็นเหมือนพื้นที่ทดลองที่คุณสามารถที่จะสร้างสรรค์เนื้อหาและวางเลย์เอาต์ได้อย่างอิสระด้วย ฉันเลยลองทำนิตยสารออนไลน์ขึ้นมาชื่อ ‘after 17’ โดยโฟกัสไปที่ประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิง”

กระทั่งสามปีผ่านไป ในปี 2010 DREAMER FTY จึงได้เริ่มผลิตหนังสือเล่มเป็นของตัวเอง โดยหนึ่งในผลงานขายดีที่สะท้อนตัวตนและความหลงใหลต่อสิ่งพิมพ์ของสำนักพิมพ์ได้เป็นอย่างดีคือ ‘Book Book’ หนังสือที่ว่าด้วยการเย็บเล่มหนังสือ (book binding)



“Book Book เป็นเล่มคลาสสิคของเรา ซึ่งมาจากสมุดบันทึกของศิลปินคนหนึ่งที่เรารักมากๆ เนื้อหาของมันพูดถึงวิธีการเย็บหนังสือ ซึ่งเราคิดว่าเหมาะสำหรับใครก็ตามที่อยากลองทำหนังสือของตัวเองแต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง เราพิมพ์ Book Book มาแล้ว 4 edition และมีให้เลือก 2 ภาษาด้วยกันคือจีนและอังกฤษ”

พ้นไปจากการเป็นสำนักพิมพ์อิสระแล้ว Dreamer FTY ยังเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัด abC Art Book Fair หนึ่งในเทศกาลหนังสือศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนอีกด้วย

“เราจัด abC Art Book Fair ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2015 ในตอนนั้นงานอาร์ตบุ๊คยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนักในประเทศจีน อย่างปีแรกมีบูธมาออกงานแค่ 25 บูธเท่านั้น ผู้เข้าร่วมก็ไม่กี่พัน เราแทบไม่อยากเชื่อเลยว่า ไม่กี่ปีหลังจากนั้น ความนิยมของ abC Art Book Fair จะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว”

Zhou เล่าว่า abC Art Book Fair ปีล่าสุดนั้นมีบูธมาออกงานมากกว่า 130 บูธจากหลายๆ ประเทศทั่วโลกและมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่าสองหมื่นคน โดยในแต่ละปี เทศกาลฯ จะจัด 2-3 ครั้งในเมืองใหญ่อย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และหางโจว



ด้วยความที่โลดแล่นอยู่ในวงการสิ่งพิมพ์อิสระมาหลายปี ไม่ว่าจะในฐานะสำนักพิมพ์และผู้จัดงานอาร์ตบุ๊ค เราถาม Zhou ว่า DREAMER FTY มีวิธีในการกระจายหนังสือของตัวเองอย่างไร

“เรารู้จักร้านหนังสืออิสระค่อนข้างเยอะ เมื่อเราตีพิมพ์ผลงานใหม่ เราจะพยายามหาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับหนังสือแต่เล่ม ในประเทศจีนช่วง 4-5 ปีมานี้ เราพบว่ามีร้านหนังสืออิสระที่มีคาแรกเตอร์เป็นของตัวเองเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ร้านหนังสือเหล่านั้นก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้อีกต่อไป มีครีเอเตอร์หลายคนที่เลือกจะกลับไปอยู่บ้านเกิดของตัวเองและเปิดร้านหนังสืออิสระที่นั่น บ่อยครั้งก็เป็นร้านหนังสือเหล่านี้แหละที่ติดต่อมาหาเราและรับหนังสือไปขาย”

อย่างไรก็ดี การจะสร้างเครือข่ายที่แน่นแฟ้นระหว่างร้านหนังสืออิสระและสำนักพิมพ์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งยังต้องอาศัยเวลา ทุกๆ สองปีพวกเขาจึงทำสิ่งพิมพ์ของ abC ที่รวบรวมเรื่องราวจากเทศกาลฯ ในช่วงปีนั้นๆ เอาไว้ โดยมีพาร์ทที่สำคัญต่อการสร้างเครือข่ายเป็นอย่างยิ่งเรียกว่า ‘Yellowpages’ หรือสมุดหน้าเหลือง ซึ่งบันทึกทั้งชื่อของผู้ผลิตสิ่งพิมพ์ที่เข้าร่วมเทศกาลฯ และช่องทางติดต่อ และจะอัพเดตรายชื่อนี้ทุกครั้งที่มีการทำสิ่งพิมพ์ฉบับใหม่ เพื่อให้ผู้ผลิตสิ่งพิมพ์ ศิลปิน และร้านหนังสืออิสระทั้งหลายหากันจนเจอ

นอกจากนี้ Zhou แนะนำว่า การหมั่นพาสำนักพิมพ์ไปพบเจอผู้คนใหม่ๆ ในอาร์ตบุ๊คแฟร์ก็เป็นเรื่องสำคัญ



“ฉันคิดว่า อย่างน้อยปีละครั้ง คุณควรจะพาสำนักพิมพ์หรือร้านของคุณไปเข้าร่วมอาร์ตบุ๊คแฟร์สักงาน เพื่อแนะนำสิ่งพิมพ์ของคุณกับผู้คนใหม่ๆ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับวงการสิ่งพิมพ์อิสระคือคอนเนคชั่น

“อย่างในประเทศจีนตอนนี้ก็มีงานอาร์ตบุ๊คใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะปัจจุบันยังมีครีเอเตอร์จำนวนมากที่เลือกจะใช้สิ่งพิมพ์เป็นสื่อกลางในการสื่อสาร แม้ว่าเราจะต้องรับมือกับความพยายามของรัฐบาลจีนที่จะควบคุมเนื้อหาอยู่บ้าง แต่ในแง่หนึ่งฉันคิดว่าอนาคตของวงการอาร์ตบุ๊คในจีนก็พอจะสดใสอยู่ เพราะมันยังมีคนอีกมากที่หลงใหลการทำสิ่งพิมพ์” Zhou อธิบาย




Tara Books

Tara Books คือสำนักพิมพ์และคอลเล็คทีฟจากประเทศอินเดียที่ยังคงเดินทางไปทั่วโลกเพื่อนำหนังสือของพวกเขาไปพบปะกับนักอ่านในที่ต่างๆ
ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น Tara Books ก่อตั้งโดย V. Geetha และ Gita Wolf สองนักเคลื่อนไหวประเด็นสิทธิสตรีที่เกิดจากการตั้งคำถามต่อ ‘หนังสือเด็ก’ ในอินเดีย

“หลายปีก่อน Gita กับฉันเคยเป็นสมาชิกของกลุ่มเฟมินิสต์แห่งเมืองเชนไน ซึ่งระหว่างนั้นเราก็ได้ช่วยหาหนังสือเข้ามายังห้องสมุดเล็กๆ ของกลุ่ม กระทั่งวันหนึ่ง Gita ก็ตั้งคำถามว่า บรรดาหนังสือที่พวกเราอ่านขณะที่เติบโตขึ้นมาล้วนแล้วแต่มาจากที่อื่น ไม่อังกฤษ ก็สหภาพโซเวียต ทว่ากลับไม่มีหนังสือจากพื้นที่ของเราเลย ซึ่งมันเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีหนังสือเด็กที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และบริบทท้องถิ่นของเรา” Geetha ถึงจุดตั้งต้นของ Tara Books

เมื่อเป้าหมายที่วางไว้ชัดเจน ทั้งคู่จึงได้เริ่มสร้างสรรค์หนังสือเล่มแรกของ Tara Books นั่นคือ Mala หนังสือเด็กที่ถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กผู้หญิงที่ออกเดินทางตามหาเมล็ดฝนที่ถูกขโมยไปโดยปีศาจร้าย

“นับตั้งแต่หนังสือเล่มแรกของเรา สิ่งที่ Tara Books ให้ความสำคัญเสมอคือการนำเสนอเรื่องราวของเด็กผู้หญิงที่กล้าหาญ และแม้ว่าในขวบปีแรกๆ จะไม่ได้มีการวางแผนงานที่ชัดเจนนัก แต่ย้อนมองกลับไปเราพบว่า ประเด็นที่มักจะถูกสื่อสารผ่านหนังสือของเรามักจะเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว การเมือง หรือสังคม”



จุดเริ่มต้นของ Tara Books มาจากหนังสือเด็กก็จริงแต่เมื่อเวลาผ่านไป สำนักพิมพ์ก็ได้ขยายกลุ่มคนอ่านไปยังกลุ่มผู้ใหญ่ ซึ่งหากเราลองพิจารณาถึงประเด็นต่างๆ ของหนังสือที่ Tara Books ตีพิมพ์จะรับรู้ได้ถึงความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านเพศสภาพ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศิลปะของคนพื้นเมือง การศึกษา ไปจนถึงการหยิบตำนานของอินเดียหรือวรรณกรรมมาบอกเล่าผ่านน้ำเสียงใหม่ เช่น The Very Hungry Lion ที่ดัดแปลงจากตำนานพื้นบ้านของอินเดีย หรือ Little Girl Are Wiser Than Men ที่มีเรื่องสั้นของลีโอ ตอลสตอย เป็นแรงบันดาลใจ

ขณะเดียวกัน ‘ภาพประกอบ’ ก็เป็นองค์ประกอบหลักที่ถูกให้ความสำคัญอยู่เสมอ โดย Tara Books มักจะหยิบเทคนิคการพิมพ์ต่างๆ มาใช้กับหนังสือแต่ละเล่ม ไม่ว่าจะเป็น ‘การพิมพ์ซิลค์สกรีน’ (silk screen printing) ‘การพิมพ์แบบตัวเรียง’ (letter press printing) ไปจนถึง ‘ริโซกราฟ’

“จุดหนึ่งที่ทำให้ Tara Books แตกต่างไปจากสำนักพิมพ์อื่นๆ คือเราสร้างสรรค์หนังสือด้วยตัวเอง เราจะต้อนรับต้นฉบับหรืองานศิลปะที่ส่งมาก็จริง เพียงแต่หนังสือแต่ละเล่มของเราจะต้องทำงานในหลายระดับด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาพในการสื่อสาร การนำเสนอมุมมองที่แปลกใหม่และผลักพาเราสู่การอ่านที่แตกต่างออกไป การนำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในเรื่องการพิมพ์ ไปจนถึงรูปแบบของตัวเล่ม” Geetha อธิบายถึงวิธีคิดและความคาดหวังที่อยู่เบื้องหลังการผลงานแต่ละเล่ม

ในแง่การกระจายหนังสือของสำนักพิมพ์ Geetha ชี้ว่า ในอดีตนั้น Tara Books เคยทำงานร่วมกับตัวแทนผู้ค่าส่งในประเทศอย่างอังกฤษ สหรัฐฯ เยอรมนี รวมถึงอินเดีย ทว่าปัจจุบันพวกเขาหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างทีมมาร์เก็ตติงที่เข้มแข็งของสำนักพิมพ์



“ทุกวันนี้เราขายหนังสือผ่านเว็บไซต์ของตัวเองซึ่งเรามองว่ามันสำคัญมากๆ เราจึงพยายามอย่างเต็มที่ในการทำให้การซื้อหนังสือออนไลน์เป็นประสบการณ์ที่สะดวกสบายที่สุดสำหรับลูกค้าของเรา อีกอย่างคือเราให้ความสำคัญกับโซเชียลมีเดียมากๆ โดยเฉพาะการสร้างฐานแฟนในอินสตาแกรม ซึ่งช่วยกระตุ้นยอดขายได้อย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ”

แม้จะหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างทีมในบ้านที่แข็งแรงก็จริง ถึงอย่างนั้น Tara Books ก็ยังคงหมั่นสร้างเครือข่ายกับร้านหนังสืออิสระทั่วโลกอยู่เสมอ

“เราพยายามค้นหาร้านหนังสือใหม่ๆ ที่สามารถจะวางขายหนังสือของเราอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเราก็มักจะสนับสนุนร้านหนังสือเหล่านั้นผ่านการมอบส่วนลดพิเศษ การให้บริการที่แม่นยำในเรื่องการส่งมอบสินค้า ไปจนถึงการแนะนำร้านหนังสือเหล่านั้นผ่านโซเชียลมีเดียของเรา”

และแม้ว่าสำนักพิมพ์จะแข็งแรง มีฐานแฟนและพันธมิตรร้านหนังสือที่เข้มแข็ง แต่ทุกวันนี้ Tara Books ก็ยังคงเดินทางไปยังเทศกาลหนังสือทั่วโลก อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการไปเข้าร่วมงานหนังสือที่แฟรงค์เฟิร์ตและโบโลญญ่าอย่างต่อเนื่องตลอด 25 ปี รวมถึงการไปร่วมเทศกาลหนังสือศิลปะในเอเชีย อย่างที่เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และไทย

“การเข้าร่วมอาร์ตบุ๊คแฟร์ช่วยให้เราได้รู้จักกับคอมมิวนิตีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นคนทำหนังสือ นักอ่าน ศิลปิน และดีไซเนอร์ ซึ่งฉันคิดว่ามันมีคุณค่าและสำคัญมากๆ นะ” Geetha ทิ้งท้าย