BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 |  

︎BKKABF2023 VISIT

Venue : Asia Hotel Bangkok


Event Dates :

BKKABF Symposium :
Thursday 30.NOV.2023
13.00 – 17.00

BKKABF Fair Dates :
Friday 01.DEC. – Sunday 03.DEC.2023

BKKABF Fair Hours :
13.00 – 20.00

Ticket :
General Public : 150 THB/day
Students : 100 THB/day
Children Under 12 : Free entry
For more information, please contact :
contact@bangkokartbookfair.info

© 2023 BKKABF
Initiated by STUDIO150 in partnership with BANGKOK CITYCITY GALLERY since 2017, BANGKOK ART BOOK FAIR (BKKABF) is an annual event aimed to bring together self-publishing and co-creating community to contribute in discovering and exchanging ideas, cultural ideals, and artistic aspirations.


A
BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 |  

︎UPDATE  ︎EXHIBITOR  ︎VISIT
︎PAST EVENT

A
A
เรื่อง :  คาลิล พิศสุวรรณ
ภาพ : เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล


เมื่อพูดถึงงานสิ่งพิมพ์อิสระหรืองานศิลปะ ‘ทุน’ คือหนึ่งในปัญหาคลาสสิคที่คนทำงานต้องประสบพบเจอ แน่นอนว่ามีบางคนที่หาทางรับมือหรือจัดการกับเรื่องนี้จนพอจะเอาตัวรอดในวงการต่อไปได้ ขณะเดียวกันก็มีคนอีกมากมายที่ต้องยอมแพ้ ถอยหลัง หรือกระทั่งปิดตัวลงไปเพราะเรื่องทุนเป็นอุปสรรคที่ยากเกินจะต้านทาน ยังไม่ต้องพูดถึงศิลปินอีกมากมายที่ใฝ่ฝันอยากจะมีโปรเจกต์เป็นของตัวเองแต่ไม่ทันจะได้เริ่มก็ต้องยอมวางมือเสียแล้วด้วยเหตุผลเพราะไม่มีทุนเพียงพอ

‘Den Publishing’ และ ‘1Projects’ คือสองตัวแทนที่เราอยากจะชวนไปพูดคุยในวันนี้ แม้ว่าทั้งคู่อาจมีโมเดลธุรกิจที่แตกต่างกัน ถึงอย่างนั้น Den Publishing และ 1Projects ต่างก็มีวิธีการในการบริหารจัดการทุนได้อย่างน่าสนใจ

กล่าวคือขณะที่ Den Publishing คือกลุ่มคนทำซีน (Zine) จากเชียงใหม่ที่เน้นการทำแบรนด์สตรีทมันๆ และขายสินค้าของแบรนด์เพื่อมาหมุนเป็นเงินทุนในการหล่อเลี้ยงแพชชันและความชอบของตัวเองที่มีต่อซีน 1Projects คือโปรเจกต์ทางศิลปะของจารุวรรณ จันทป อดีตผู้จัดการ Whitespace Gallery Bangkok ที่ระหว่างทางจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจของตัวเองเพราะเงื่อนไขเรื่องทุน

Den Publishing และ 1Projects จัดการเงินทุนและการบริหารธุรกิจเพื่อเอาตัวรอดอย่างไร ในบทความนี้เราพาไปคุยกับพวกเขากัน


Den Publishing & Den Souvenir
ร้านค้าที่ผลิตโปรดักต์และสร้างคอนเนคชั่นเพื่อสร้างทุนในการทำซีน

Den Souvenir คือร้านขายของที่ระลึก เสื้อผ้า และซีนที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ บริเวณคูเมืองเชียงใหม่ ก่อตั้งโดย  จง–กิติวัฒน์ มัทนพันธ์ ชายหนุ่มชาวเชียงใหม่ ผู้หลงใหลในศิลปะและสิ่งพิมพ์ทำมือ

“เวลาไปเที่ยวเมืองนอก เราจะชอบไปหาร้านขายซีนและเกิดความรู้สึกว่าทำไมถึงไม่มีร้านขายซีนในไทยบ้าง จนเกิดความคิดว่าเราอยากจะมีร้านขายซีน ขายเสื้อผ้า สนับสนุนซับคัลเจอร์และสินค้า DIY เป็นของตัวเอง” จงเล่าถึงจุดเริ่มต้นของ Den Souvenir

การวางตัวเองเป็น ‘ร้านค้าที่ผลิตโปรดักต์ของตัวเองออกมาเรื่อยๆ’ นี่เองที่ไม่เพียงแต่จะสร้างเงินทุนหมุนเวียนให้กับร้าน แต่ยังคอยรองรับการทำงานอีกขาหนึ่งของแบรนด์ นั่นคือ ‘Den Publishing’ หรือสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่ตีพิมพ์ซีนเป็นของตัวเอง



“ซีนเล่มแรกของ Den Publishing เป็นหนังสือรวมผลงานของ Kanrapee ช่างภาพสตรีทอาร์ตชาวเชียงใหม่ ตอนนั้นเราก็เปิดให้คนพรีออร์เดอร์ซึ่งมันก็ sold out นะ

“เงินทุนก็มาจากเงินของเราเองนี่แหละ ไม่ถึงกับเข้าเนื้อเพราะเราก็พยายามหมุนไปเรื่อยๆ ขายไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้ Den ก็ขับเคลื่อนได้ด้วยการขายของ จากลูกค้าที่วอล์คอินเข้ามาที่ร้านบ้าง ลูกค้าออนไลน์บ้าง จากร้านต่างๆ ที่สั่งสินค้าเราไปขายบ้าง หรือจากที่เราไป pop-up บ้าง” จงอธิบาย

หลังจากซีนเล่มแรก Den Publishing ก็เริ่มผลิตสิ่งพิมพ์อิสระมากขึ้นเรื่อยๆ จงเล่าว่าความตั้งใจของเขาในตอนนั้นคือการตีพิมพ์ซีนใหม่ๆ ทุกเดือน เพียงแต่ความท้าทายอยู่ที่ว่า ไม่ใช่ซีนทุกเล่มที่จะขายดีเหมือนๆ กัน ขณะที่บางเล่มขายดีบางเล่มกลับขายไม่ได้ ยิ่งเมื่อต้องหมุนเวียนเงินทุนอยู่เรื่อยๆ สิ่งนี้ก็เริ่มบริหารจัดการยาก ถึงจุดหนึ่งเขาก็เริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตซีนของตัวเอง



“เราเริ่มผลิตซีนใหม่ๆ น้อยลงแต่หันมาเน้นรีสต็อกเล่มที่ขายดีแทน เช่น ซีนประเภท ‘archive zine’ หรือซีนที่บันทึกหัวข้ออะไรบางอย่างซึ่งค่อนข้างขายดี เดาว่าคนน่าจะซื้อไปเก็บเป็นหนังสืออ้างอิง (reference) อย่างเล่ม Chiang Mai Punk Flyer Archive ซึ่งรวบรวมใบปลิวงานปาร์ตี้พังค์ในเชียงใหม่ช่วงปี 1999-2009 ก็เป็นเล่มที่ขายได้เรื่อยๆ เราเลย re-stock ค่อนข้างบ่อย”

พ้นไปจากเรื่องของทุนที่หมายถึง ‘เงิน’ แล้ว ทุนอีกรูปแบบหนึ่งที่ขับเคลื่อนธุรกิจของ Den Publishing ได้อย่างน่าสนใจคือ ‘ทุนทางสังคม’ ซึ่งหมายถึงการสร้างเครือข่ายระหว่างจงกับร้านค้าต่างๆ ทั่วโลกที่หลั่งไหลเข้ามาสั่งซื้อสินค้าและซีนของ Den ไปวางขายในร้านของตัวเอง

“มันเริ่มจากการที่ร้านญี่ปุ่นชื่อ Fifth General Store ส่งอีเมลมาถามว่าร้านของเรามีแคตาล็อกสินค้ามั้ย เราเลยส่งแคตาล็อกไปให้ดูแล้วเขาก็สั่งสินค้าจากร้านเราไปวาง หลังจากนั้นก็เริ่มมีร้านอื่นๆ ที่รู้จัก Den Souvenir ผ่านอินสตาแกรม dm เข้ามาสั่งสินค้าร้านเรื่อยๆ ซึ่งเราก็ดีใจทุกครั้งนะที่มีร้านใหม่ๆ ติดต่อเข้ามา”

หากคุณเข้าไปในเว็บไซต์ของ Den Souvenir และกดที่ Stockist คุณจะพบว่า ปัจจุบัน สินค้าของ Den นั้นได้ไปวางขายอยู่ที่ร้านต่างๆ ในหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น อังกฤษ สวีเดน แคนาดา จนอาจพูดได้ว่าจากร้านขายของที่ระลึกเล็กๆ ในเชียงใหม่ จงได้สร้างเครือข่ายคอมมิวนิตี้ซึ่งช่วยส่งให้ชื่อของ Den Souvenir และ Den Publishing เป็นที่รู้จักมากกว่าแค่ในประเทศไทย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เรามักจะเห็นร้านของเขาออกเดินทางอยู่บ่อยๆ ทั้งการไปร่วมคอลแลบกับแบรนด์อื่นๆ บ้าง รวมถึงการไปจัด pop-up สินค้าของ Den Souvenir ในที่ต่างๆ



“การ pop-up ก็เป็นการตลาดชนิดหนึ่ง เราไปกรุงเทพฯ บ้าง ต่างประเทศบ้าง บางครั้งก็ได้กำไรแต่บางครั้งก็เจ๊ง มันไม่ได้ชัวร์เสมอไป แต่เรามองว่า มันคือการพาตัวเองไปโชว์ออฟมากกว่าเพราะอย่างน้อยๆ สิ่งที่ได้กลับมาคือคอนเนคชั่นที่เพิ่มขึ้น”

จงยกตัวอย่างซีนสองเล่มใหม่ของ Den Publishing อย่าง ‘Den - 5th Anniversary Book’ ที่รวบรวมความทรงจำตลอดห้าปีของ Den Souvenir และ ‘Open 1 Hour - Thai Adult Logo Archive Zine’ ซีนที่รวบรวมโลโก้เป็นหนังสือโป๊ของไทยว่ามีร้านค้าต่างประเทศสั่งไปวางขายในร้านอยู่เรื่อยๆ ซึ่งทำให้เห็นว่าการสร้างเครือข่ายร้านค้าเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ช่วยให้สินค้าของ Den กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ได้มากขึ้น แปรเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินทุนที่หมุนเวียนมากขึ้น และช่วยประคับประคองของ Den Souvenir และ Den Publishing ให้อยู่ต่อไปได้เรื่อยๆ นั่นเอง

“ตอนนี้เราเปิด Den Souvenir มาแล้วห้าปีมันก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ นะ เพียงแต่เราก็อยากให้มันอยู่ได้อย่างสบายใจกว่านี้” จงทิ้งท้าย




1Projects
แกลเลอรี่ที่ปิดพื้นที่เชิงกายภาพเพื่อให้การทำงานศิลปะไปต่อได้

หลังจากที่ทำงานกับ Whitespace Gallery มาเก้าปี ถึงจุดหนึ่ง จารุวรรณ จันทป ก็ตัดสินใจเปิดแกลเลอรี่เป็นของตัวเอง “เราก่อตั้ง 1Projects ในปี 2015 ซึ่งชื่อของมันก็มาจากคำว่า ‘วรรณ’ ที่เป็นชื่อของเรา”

จารุวรรณเล่าถึงจุดเริ่มต้นของ 1Projects ในฐานะแกลเลอรี่เล็กๆ ที่มีเป้าหมายสองอย่างคือ 1) จะจัดแสดงงานทีละงาน (project by project) และ 2) จะจัดแสดงงานให้กับศิลปินรุ่นใหม่ นักศึกษา และงานเล็กๆ ที่ไม่ค่อยถูกไม่เห็น

“เราไปเห็นงานธีสิสดีๆ ของนักศึกษาที่ตั้งใจทำกันขึ้นมาแต่แล้วพวกเขาก็หายไป ไม่ได้อยู่ในวงการอีก ประเด็นคือ มันยังมีศิลปินรุ่นใหม่อีกมากที่ไม่รู้จะเอางานไปแสดงที่ไหน เราเลยอยากให้ 1Projects เป็นพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่จัดแสดงงาน”




อาจกล่าวได้ว่า การที่ศิลปินรุ่นใหม่เหล่านี้จะมีโอกาสได้แสดงผลงานในแกลเลอรี่ศิลปะ ‘ทุน’ คือสิ่งที่พวกเขาต้องมีซึ่ง 1Projects อยากจะเป็นพื้นที่ศิลปะที่พร้อมจะช่วยส่องแสงเล็กๆ ให้กับศิลปินตัวเล็กๆ ที่ยังปราศจากโอกาสและต้นทุนของตัวเอง

ทว่าหลังจากที่เปิดแกลเลอรี่ได้พักหนึ่ง การมาถึงของโควิด-19 ก็ส่งผลให้จารุวรรณตัดสินใจต้องปิดสเปซไปด้วยเหตุผลเรื่องเงินทุนและค่าใช้จ่าย พูดง่ายๆ คือไม่ใช่แค่ศิลปินที่ขาดแคลนทุน แกลเลอรี่เองก็ขาดแคลนทุนอย่างค่าเช่าเช่นกัน ทว่าภายใต้ผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงโรคระบาดที่ส่งผลให้ทุกคนต้องรัดเข็มขัด มันอาจดีกว่าที่จะถอยออกมาจากตรงนั้นเพื่อรักษาสภาพคล่องให้กับเงินทุนของตัวเอง

นั่นเองจึงเป็นเหตุผลให้ 1Projects ปรับเปลี่ยนแนวทางของตัวเองจากการมีแกลเลอรี่ซึ่งมีค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนตายตัว (fixed costs) ไปสู่รูปแบบการทำงานที่คล่องตัวและบริหารเงินทุนได้ง่ายขึ้น

“หลังจากที่แกลเลอรี่ปิดไปช่วงโควิด เราก็ย้ายไปอยู่สิงคโปร์ และร่วมทำ collaboration projects ระหว่างศิลปินไทยและสิงคโปร์ รวมถึงไปช่วยจัด pop-up ต่างๆ และจัดนิทรรศการกลุ่มกับศิลปินที่นั่น

“ถึงจะไม่มีแกลเลอรี่แล้ว แต่ 1Projects ก็ยังคงดำเนินการอยู่เหมือนเดิมนะ เราแค่มองโมเดลธุรกิจเปลี่ยนไป เลือกจะไปทำงานร่วมกับคนอื่นๆ แทน ซึ่งในแง่หนึ่งมันก็ช่วยลดค่าใช้ง่ายของเราได้ ขณะเดียวกันเราก็ทำงานคล่องตัวขึ้นด้วย” จารุวรรณอธิบาย



แม้ว่าจะไม่มีพื้นที่จัดแสดงงานเป็นของตัวเองอีกต่อไปแต่ก็เช่นเดียวกับ Den Publishing ที่มีต้นทุนเรื่องเครือข่าย จุดแข็งหนึ่งของ 1Projects คือการรู้จักผู้คนมากมาย ทำให้ 1Projects ยังสามารถช่วยติดต่อ หาทุน และสร้างคอนเน็คชั่นระหว่างศิลปินรุ่นใหม่กับแกลเลอรี่ต่างๆ ทั่วโลก ในแง่นี้แม้ว่า รูปแบบการทำงานของ 1Projects ในปัจจุบันจะเปลี่ยนไปมากจากจุดเริ่มต้น อย่างไรก็ดี เป้าหมายในวันแรกของจารุวรรณที่อยากจะช่วยสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ก็ยังคงอยู่อย่างชัดเจน

อย่าง Natalia Ludmila ศิลปินชาวเม็กซิกันที่ร่วมทำ ‘15,754 relatos entre dos despachos/15,754 stories between two offices/๑๕,๗๕๔ เรื่องเล่าจากสองหน่วยงาน’ อาร์ตบุ๊คเล่มแรกของ 1Projects ที่จะวางจำหน่ายในงาน BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 ก็เป็นหนึ่งในศิลปินที่จารุวรรณได้พบเจอและจัดงานให้ที่สิงคโปร์ นาตาเลียอธิบายว่า โปรเจกต์นี้ของเธอต่อยอดมาจากงานก่อนๆ ของตน

“โปรเจกต์นี้เริ่มต้นจากจดหมายหลายฉบับที่ฉันส่งให้ตัวเองจากกรุงเทพฯ ถึงเม็กซิโกซิตี้ก่อนที่จะอำลาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ฉันอยู่มานานกว่าสิบปี ในจดหมายเหล่านั้น ฉันจดรายละเอียดอย่างเฉพาะเจาะจงของไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศปีต่อปี เนื้อหาสำคัญของโปรเจกต์นี้มันเลยถูกจดบันทึกไว้อย่างมีรูปแบบอยู่แล้ว การรวบรวมข้อความเหล่านั้นเป็นหนังสือจึงเป็นไปอย่างธรรมชาติมากสำหรับฉัน”

นาตาเลียเล่าถึงจุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้



ขณะเดียวกัน จารุวรรณก็อธิบายว่า “อาร์ตบุ๊คเล่มนี้ต่อยอดมาจากงานก่อนๆ ของนาตาเลียอย่างการวาดเส้นและเพนติ้ง เราไม่ได้ช่วยเขาดีไซน์เพราะทางฝั่งศิลปินมีทีมดีไซน์อยู่แล้วแต่เราจะช่วยในการจัดการมากกว่า เพราะหนังสือเล่มนี้ค่อนข้างจะซับซ้อน แถมยังมีสามภาษาด้วยคือไทย สเปน และอังกฤษ”

สำหรับจารุวรรณ การกระโดดมาทำอาร์ตบุ๊คนั้นถือเป็นประสบการณ์ใหม่ที่เธอไม่เคยได้ลองมาก่อน และแน่นอนว่ามันย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงอย่างนั้นเธอก็ยืนยันว่า รู้สึกสนุกกับโปรเจกต์นี้ไม่น้อย

“การทำหนังสือสนุกนะ เสน่ห์ของหนังสือคือ ‘การสัมผัส’ แตกต่างจากงานศิลปะบางประเภทที่คุณจะไม่สามารถจับต้องได้เลย เราว่านี่แหละคือมูลค่า ซึ่งหลังจากโปรเจกต์นี้เราก็ยังอยากจะมองหาศิลปินใหม่ๆ มาทำอาร์ตบุ๊คเหมือนกันนะ” จารุวรรณเล่าพร้อมรอยยิ้ม


แม้ว่ารูปแบบการทำงานของ 1Projects ในปัจจุบันจะเปลี่ยนไปมากจากจุดเริ่มต้น อย่างไรก็ดี เป้าหมายในวันแรกของจารุวรรณที่อยากจะทำงานไปทีละโปรเจกต์และให้ความสำคัญกับศิลปินรุ่นใหม่ก็ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เช่นเดียวความสนุกที่ยังเต็มเปี่ยมในการทำงาน

“ทุกวันนี้เรายังสนุกกับการทำงาน การได้เดินทาง และการได้ลองอะไรใหม่ๆ อย่างงาน BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 ที่จะมาถึงเราก็ตื่นเต้นมากๆ เราอยากเจอคนอ่าน อยากพูดคุยกับเขา อยากรู้ว่าถ้าเขาได้อ่านหนังสือของเราแล้วจะรู้สึกยังไง” จารุวรรณทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น