BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 |  

︎BKKABF2023 VISIT

Venue : Asia Hotel Bangkok


Event Dates :

BKKABF Symposium :
Thursday 30.NOV.2023
13.00 – 17.00

BKKABF Fair Dates :
Friday 01.DEC. – Sunday 03.DEC.2023

BKKABF Fair Hours :
13.00 – 20.00

Ticket :
General Public : 150 THB/day
Students : 100 THB/day
Children Under 12 : Free entry
For more information, please contact :
contact@bangkokartbookfair.info

© 2023 BKKABF
Initiated by STUDIO150 in partnership with BANGKOK CITYCITY GALLERY since 2017, BANGKOK ART BOOK FAIR (BKKABF) is an annual event aimed to bring together self-publishing and co-creating community to contribute in discovering and exchanging ideas, cultural ideals, and artistic aspirations.


A
BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 |  

︎UPDATE  ︎EXHIBITOR  ︎VISIT
︎PAST EVENT

A
A
เรื่อง : พัฒนา ค้าขาย
ภาพ : ณัฐวุฒิ เตจา


เรารู้จัก PULSE Clinic ครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน ในฐานะคลินิกให้บริการด้านสุขภาพทางเพศอย่างครอบคลุม ด้วยความตั้งใจที่อยากให้คนทุกเพศเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวก และไม่ถูกตัดสินจากมายาคติเรื่องเพศในสังคม

คลินิกของ PULSE นับว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะขยายสาขาได้มากถึง 5 สาขาในกรุงเทพ และอีกหลายสาขาในหลายเมืองทั่วเอเชีย ทั้งพัทยา ภูเก็ต ฮ่องกง มานิลา กัวลาลัมเปอร์ และสิงคโปร์

ที่เซอร์ไพร์สเราคือ นอกจากคลินิกแล้ว PULSE ยังทำแกลเลอรี่ของตัวเอง ที่ชักชวนศิลปินที่นับตัวเองเป็นสมาชิกของชุมชน LGBTQ+ และศิลปินที่ไม่ใช่ชาว LGBTQ+ แต่ทำงานน่าสนใจ สดใหม่ และเล่าเรื่องเซ็กซ์ในแง่บวกมาจัดแสดงงานของพวกเขาที่แกลเลอรี่ แถมยังมีโครงการศิลปินในพำนักที่ PULSE สาขาพญาไทเพื่อสนับสนุนให้ศิลปินได้ฟูมฟักผลงานใหม่ใต้ชายคาของ PULSE  



ไม่นานมานี้ PULSE ยังหันมาจับงานสื่อสิ่งพิมพ์อิสระ และตั้งใจจะตีพิมพ์อาร์ตบุ๊กที่รวบรวมงานของศิลปินผู้เคยจัดแสดงงานที่ PULSE Gallery ออกมาให้ผู้คนได้เสพในแบบรูปเล่ม ซึ่งในอีกไม่กี่วัน อาร์ตบุ๊กของ PULSE Gallery จะไปจัดแสดงที่ BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 อีกด้วย
บ่ายวันนี้ที่ PULSE Gallery สาขาสีลม เราจึงขอเข้าไปคุยกับ Juan Arias ผู้จัดการแกลเลอรี่ และ อาร์ค–สาโรจน์ คุณาธนต หนึ่งในศิลปินเจ้าของอาร์ตบุ๊ค ให้พวกเขาสปอยล์สิ่งพิมพ์อิสระของเจ้าตัวให้ฟัง



อะไรทำให้ PULSE Gallery ตัดสินใจเข้าร่วมงาน BANGKOK ART BOOK FAIR ในปีนี้

ฮวน : เพราะ BANGKOK ART BOOK FAIR คือเทศกาลหนังสือศิลปะ และ PULSE Gallery ก็ทำหนังสือศิลปะ นี่จึงเป็นพื้นที่ที่ดีที่สุดในการจัดแสดงงานของเรา ปีที่แล้วเราเคยยื่นใบสมัครไปแต่ไม่ถูกคัดเลือก ปีนี้เราจึงพยายามอีกครั้ง

จริงๆ แล้ว เราไม่เคยโชว์หนังสือศิลปะของเราให้คนอื่นเห็นเลย เพราะเราเพิ่งก้าวเข้ามาในฐานะผู้ผลิตสิ่งพิมพ์มือใหม่ และหวังว่าจะเติบโตได้อีกในอนาคต  ไอเดียของเราคือเราจะปล่อยมันในระยะเวลา 3 วันของงาน BANGKOK ART BOOK FAIR มันจะเป็นหนังสือใหม่ที่เรายังไม่ได้โปรโมตหรือทำอะไรกับมัน ทุกคนจะได้เห็นมันที่นี่ที่แรก



BANGKOK ART BOOK FAIR ยังเป็นพื้นที่สำหรับศิลปินที่ทำหนังสือด้วยตัวเอง ซึ่งไม่ค่อยมีโอกาสที่จะเผยแพร่มากนักเพราะมันไม่ใช่หนังสือนิยายหรือหนังสือเมนสตรีมที่พิมพ์แล้วจะนำไปออกงานหนังสือ สำหรับผม เทศกาลนี้พาผู้อ่านไปเจอกับสิ่งที่แตกต่างหลากหลาย และท้ายที่สุดแล้ว หนังสือที่ PULSE ทำนั้นพูดเรื่องเพศและความรัก ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีประสบการณ์ร่วม ปัญหาคือบางครั้งสังคมยังไม่พร้อมสำหรับสิ่งเหล่านี้ นั่นคือจุดเริ่มต้นของการทำหนังสือของเราด้วย


เล่าเกี่ยวกับหนังสือเล่มใหม่ของ PULSE Gallery ที่จะนำมาเผยแพร่ในงานให้เราฟังหน่อย

ฮวน : มีทั้งหมด 3 เล่ม เล่มแรกชื่อว่า H3 ซึ่งมาจากคำว่า Happy, Horny, and Happy ไอเดียของการทำเล่มนี้คือเราอยากทำหนังสือศิลปะที่ปล่อยปีละ 2 ครั้ง เป็นหนังสือที่รวบรวมผลงานของศิลปินในพำนักของเรา ซึ่งเล่มแรกที่เราทำนี้เป็นผลงานของ Gatsby Lim ศิลปินลูกครึ่งออสเตรเลีย-กัมพูชา



อาร์ค : เล่มที่ 2 ชื่อว่า Lust & Love เป็นผลงานที่ผมอยากทำขึ้นเพื่อแสดงความเคารพต่อหนังสือเรื่อง Love & Lust ของ Peter Hujar ศิลปินชาว LGBTQ+ ผู้อาศัยอยู่ในนิวยอร์กช่วงยุค 70-80 ว่าง่ายๆ เขาเป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากถ่ายภาพ ครั้งแรกที่ผมเห็นภาพของเขา ผมรู้สึกเหมือนเราเชื่อมโยงถึงกันได้ เพราะคอนเทนต์ของเราคล้ายกันคือเราเลือกถ่ายภาพเพื่อน คนรัก คู่นอน แดร็กควีน และมิตรสหายชาวเพศหลากหลาย เหมือนเราทำงานที่ตั้งอยู่บนประเด็นเดียวกันในช่วงเวลาที่ต่างกัน

น่าเสียดายที่ปีเตอร์ถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อ HIV และทำให้เขาเลิกถ่ายภาพหลังจากนั้น ภาพถ่ายชุดนี้จึงเป็นเหมือนการสดุดีให้กับบุคคลที่ทำให้ผมอยากถ่ายภาพ ซึ่งจะรวมภาพประมาณ 5-6 ชุดที่ผมถ่ายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งภาพสีและภาพขาวดำในรูปแบบเหมือนภาพจากภาพยนตร์ (cinematic form) เล่าเรื่องโมเมนต์ที่เกิดขึ้น และบางภาพก็เป็นภาพที่เป็นส่วนตัว มันจึงคล้ายๆ เป็นการบันทึกความทรงจำของผมลงในหนังสือเล่มนี้ และทำให้ผมได้สะท้อนคิดกับตัวเองเช่นกัน



ฮวน : ส่วนหนังสือเล่มที่ 3 เป็นของ Myrtille Tibayrenc ศิลปินชาวฝรั่งเศสที่ทำงานเพนต์ซึ่งตอนนี้กำลังพำนักอยู่ที่เชียงใหม่ เธอเคยจัดแสดงงานกับแกลเลอรี่ของเราและเป็นเพื่อนที่ดีของ นพ.ณัฐเขต แย้มอิ่ม  ผู้เป็น CEO ของเรา หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมผลงานของเธอที่ทั้งดิบและเล่าเรื่องเพศ คล้ายภาพวาดยุคเรอเนซองส์แต่มีการบิดปรับให้น่าสนใจ




ในมุมมองของแกลเลอรี่อย่างคุณ การมีอยู่ของสิ่งพิมพ์อิสระนั้นสำคัญอย่างไร

ฮวน : ผมคิดว่าสิ่งพิมพ์อิสระนั้นคือศิลปะและมีนัยยะทางการเมือง ศิลปินทุกๆ คนที่ทำหนังสือล้วนเป็นศิลปินที่น่าทึ่ง และการแสดงงานของพวกเขาก็เป็นการป่าวประกาศให้โลกรู้ว่าพวกเขามีตัวตนและพวกเขาอยู่ตรงนี้ และการเสพสิ่งพิมพ์อิสระก็ให้ความรู้สึกคล้ายการตกหลุมรักงานศิลปะ สมมติว่าผมดูหนังสือเล่มหนึ่งที่มีภาพและมีประโยคประกอบแค่ 2-3 ประโยค แต่ผมก็รู้สึกไปกับมันได้

อย่างหนังสือ Lust & Love ของอาร์ค ตอนที่ทำดราฟต์แรกเสร็จผมก็มีน้ำตาเพราะผมรู้สึกเชื่อมโยงถึงภาพของเขา และการที่เขาจัดแจงคนในภาพให้ช่วยเล่าเรื่องราวของตัวเขาในฐานะศิลปะด้วย จะมีอะไรที่ทรงพลังไปกว่านี้อีกล่ะ

อาร์ค : เมื่อก่อนสิ่งพิมพ์ถูกผูกขาดโดยคนบางกลุ่มเท่านั้นที่จะตัดสินใจว่าจะพิมพ์อะไรและผู้อ่านก็จะมีโอกาสจำกัดในการเลือกเสพสิ่งพิมพ์เหล่านั้น แต่ตอนนี้คนทำสิ่งพิมพ์อิสระมีโอกาสมากขึ้น แม้แต่การแปลหนังสือสักเล่ม เราก็มีโอกาสที่จะเลือกหนังสือที่เรารู้สึกว่ามีความหมายกับเรามาแปล ถึงแม้จะไม่ใช่ตลาดแมส แต่คนอ่านก็สามารถค้นพบหนังสือของเราได้ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ายุคนี้สร้างโอกาสมากมายให้กับผู้คนที่อยากทำหนังสือ ผู้คนที่อยากแชร์หนังสือกัน และสิ่งที่ดีที่สุดคือการลดการผูกขาดของการทำสิ่งพิมพ์


ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น PULSE Clinic เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจแบบไหน แล้วทำไมคลินิกที่โฟกัสกับเรื่องสุขภาพทางเพศถึงต้องมีแกลเลอรี่ของตัวเอง

ฮวน : PULSE Clinic ก่อตั้งโดยนพ.ณัฐเขต เพราะเขาอยากสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับกลุ่มเพศหลากหลาย ให้พวกเขาสามารถมาตรวจโรค HIV โรค STDs และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้

ในฐานะแพทย์ที่นับตัวเองว่าเป็นคนในชุมชนของผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย นพ.ณัฐเขตเห็นว่าคลินิกแบบนี้ยังไม่เคยมีมาก่อนเลยอยากสร้างพื้นที่ให้คนรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นในการแสดงตัวตน อยากให้คนเดินทางมาตรวจโรคได้โดยไม่ต้องอับอาย ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตัดสิน

ส่วน PULSE Gallery เริ่มดำเนินการราว 2 ปีก่อน เพราะนอกจากจะเป็นแพทย์แล้ว CEO ของเรายังเป็นศิลปินด้วย เมื่อคลินิกไปได้ดีเขาจึงอยากทำแกลเลอรี่เพื่อจัดแสดงงานศิลปะของศิลปินที่หลากหลาย โดยเฉพาะศิลปินที่มาจากชุมชนของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เท่าที่ผมเข้าใจ ก่อนหน้านี้ในไทยยังไม่มีแพลตฟอร์มที่ออกตัวว่ารองรับการจัดแสดงของศิลปิน LGBTQ+ อย่างจริงจังมาก่อน แกลเลอรี่นี้จึงอยากเป็นพื้นที่แบบนั้น


อย่างไรก็ดี แกลเลอรี่แห่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อศิลปินชาว LGBTQ+ เท่านั้น แต่เราอยากให้เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถแสดงออกถึงตัวตนได้โดยไม่ถูกตัดสิน คุณสามารถโชว์งานศิลปะที่มีสไตล์ที่หลากหลาย เช่น หากคุณทำงานศิลปะที่เล่าเรื่อง kinks (กิจกรรมทางเพศที่อยู่นอกเหนือจากบรรทัดฐานของสังคม) หรืองานศิลปะซึ่งเล่าประเด็นที่คัดง้างกับชุดความคิดดั้งเดิมในสังคม คุณอาจจะไม่สามารถไปจัดแสดงในแกลเลอรี่หรือพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ได้แต่ที่นี่จะไม่ตัดสินคุณแบบนั้น เราเปิดรับเต็มที่


คุณจัดแสดงงานของศิลปินและมีโครงการศิลปินในพำนัก (Artist Residency) ด้วย คุณมีเงื่อนไขในการเลือกศิลปินและงานศิลปะที่จะมาจัดแสดงอย่างไร

ฮวน : ส่วนมากแล้วงานที่เราจัดแสดงนั้นมีนัยยะทางการเมืองนะ

อาร์ค : อีกอย่างคือพูดเรื่องเพศในแง่บวก เราอยากให้แกลเลอรี่แห่งนี้เป็นพื้นที่เปิดและปลอดภัยพอที่ทุกคนจะแสดงตัวตนได้ ไม่ว่าคุณจะนิยามตัวตนว่าอย่างไร คุณควรจะไม่ต้องแคร์ว่าจะโดนเซ็นเซอร์ บางทีงานที่เป็นภาพนู้ดหรือเสี่ยงต่อการจัดแสดงแล้วโดนตำรวจสั่งให้เก็บในที่อื่น คุณก็ทำที่นี่ได้



ฮวน : สำหรับโครงการศิลปินในพำนัก ส่วนใหญ่ศิลปินจะยื่นข้อเสนอมาให้เรามากกว่า ถ้าเราเห็นว่าสิ่งที่เขาอยากสร้างสรรค์มันแมทช์กับความสนใจของทีมเรา ศิลปินคนนั้นก็จะสามารถเข้ามาเป็นศิลปินในพำนักที่ Pulse Gallery สาขาพญาไท ได้ในระยะเวลาตั้งแต่ 1 เดือนจนถึง 3 เดือน



ไม่ใช่เรื่องทั่วไปในไทยที่จะเห็นคลินิกและแกลเลอรี่อยู่ด้วยกัน ในมุมมองของคุณ การมีแกลเลอรี่และการทำสิ่งพิมพ์ซัพพอร์ตเป้าหมายหลักของคลินิกที่อยากพัฒนาเรื่องสุขภาพทางเพศของชาว LGBTQ+ ได้อย่างไร

ฮวน : ช่วยได้หลายด้านนะ หนึ่งในนั้นคือเราจัดการประกวด PULSE Award ขึ้นทุกปี ให้ศิลปินสมัครและส่งผลงานกันเข้ามาตามธีมของปีนั้นๆ อย่างปีนี้ ธีมของเราคือการลบมายาคติเรื่องโรคเอดส์ เราจึงมอบโจทย์ให้ศิลปินสร้างผลงานที่พูดเรื่องเอดส์ในแง่บวก

เรื่องนี้สำคัญกับเราเป็นอย่างมากเพราะการที่ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่หยิบจับประเด็นเหล่านี้มาเล่ามันก็เป็นการสื่อสารวิสัยทัศน์ของ PULSE Clinic ที่อยากทำให้การพูดเรื่องสุขภาพเพศกว้างขวางขึ้นด้วย


คุณเริ่มจากการทำคลินิก แกลเลอรี่ และขยายมายังการทำสิ่งพิมพ์ ก้าวต่อไปของ PULSE Gallery คืออะไร

ฮวน: ในส่วนของ PULSE Gallery เรากำลังทำพยายามทำสำนักพิมพ์เพื่อผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ของตัวเองด้วย เพราะสำหรับเรา PULSE ไม่ใช่แค่ Gallery แต่คือ Galaxy



และ PULSE Galaxy จะเปิดประตูให้ศิลปินหน้าใหม่อีกหลายคน เราจะทำหนังสือของเราต่อไป ในตึกแกลเลอรี่ของเราจะมีคลับให้ผู้คนได้มาสังสรรค์ และแน่นอนว่าโครงการศิลปินในพำนักคือสิ่งที่เรามองไว้ว่าอยากให้มันยิ่งใหญ่ พัฒนา และเปิดประตูบานใหม่ๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม