BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 |  

︎BKKABF2023 VISIT

Venue : Asia Hotel Bangkok


Event Dates :

BKKABF Symposium :
Thursday 30.NOV.2023
13.00 – 17.00

BKKABF Fair Dates :
Friday 01.DEC. – Sunday 03.DEC.2023

BKKABF Fair Hours :
13.00 – 20.00

Ticket :
General Public : 150 THB/day
Students : 100 THB/day
Children Under 12 : Free entry
For more information, please contact :
contact@bangkokartbookfair.info

© 2023 BKKABF
Initiated by STUDIO150 in partnership with BANGKOK CITYCITY GALLERY since 2017, BANGKOK ART BOOK FAIR (BKKABF) is an annual event aimed to bring together self-publishing and co-creating community to contribute in discovering and exchanging ideas, cultural ideals, and artistic aspirations.


A
BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 |  

︎UPDATE  ︎EXHIBITOR  ︎VISIT
︎PAST EVENT

A
A


ลายเส้นกลิ่นอายมังงะญี่ปุ่น เซ็กซ์และความรักของเพศหลากหลาย การตะเกียกตะกายจากแรงกดทับของสังคมทุนนิยม เหล่านี้คือสิ่งที่ปรากฎอยู่ในงานของ พลอย-ชลันลดา พงศ์พัฒนานุกุล หรือ ‘Chalandala’ ศิลปินนักวาดภาพประกอบวัย 28 ปี



แรกเริ่ม พลอยใช้ศิลปะเพื่อเยียวยาภาวะซึมเศร้าที่เข้ามาทักทายเป็นช่วงๆ จนถึงจุดหนึ่ง บันทึกความรู้สึกที่เธอจดจารด้วยลายเส้นก็พาให้เธอได้สำรวจตัวตน อัตลักษณ์ทางเพศ สภาพสังคม และทำให้ได้มองบาดแผลทางจิตใจในมุมใหม่

ยิ่งไปกว่านั้น พลอยยังสนุกกับการจับนั่นผสมนี่ ใช้ศิลปะตีความค่านิยมในสังคมด้วยสายตาไม่เหมือนใคร เช่น การวาดไพ่ออราเคิล The Lover ที่ปกติปรากฏภาพชายหญิงยืนเคียงคู่ เธอก็ปรับให้เป็นภาพชาวเควียร์-คอมมิวนิตี้ที่เธอนับรวมตัวเองอยู่ในนั้น

อาจเพราะงานของพลอยเล่าเรื่องเพศ สุขภาพใจ ความสัมพันธ์ และระบบทุนนิยม เมื่อเธอเผยแพร่งานสู่โลกออนไลน์ และพางานไปพบปะผู้คนในนิทรรศการต่างๆ เป็นครั้งคราว จึงไม่แปลกที่หลายคนจะเชื่อมต่อกับงานของเธอได้อย่างง่ายดาย ยิ่งเธอก้าวเข้าสู่โลกของสิ่งพิมพ์อิสระด้วยการพิมพ์งานขายในระบบริโซกราฟ ( Risograph)  หลายคนก็ยิ่งอยากจับจอง

เป็นโชคดีของคนที่ไปงาน Bangkok Art Book Fair ที่จะได้สิทธินั้นเช่นกัน แต่สำหรับใครที่อยากรู้จักพลอยเพิ่มขึ้นอีกนิด และอยากให้เธอเล่าเบื้องหลังงานสิ่งพิมพ์ของตัวเองให้ฟังอีกหน่อย บทสนทนาในบรรทัดถัดไปมีทุกสิ่งที่คุณอยากรู้


ความรักในงานศิลปะของคุณเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่

เราวาดรูปอย่างบ้าคลั่งมาตั้งแต่จำความได้ ชอบศิลปะมาตั้งแต่ก่อนที่จะรู้ว่าศิลปะคืออะไร เราเป็นเด็กที่จินตนาการเยอะ เวลาเราดูหนัง ดูการ์ตูนก็อยากวาด ถ้าไม่วาดออกมาเราจะรู้สึกอึดอัด



เราหลงใหลในศิลปะแต่ก็อยากหาทางให้เราทำมันเป็นอาชีพได้ด้วย ตอนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเราจึงเลือกเรียนแฟชั่นดีไซน์เพราะได้วาดภาพเหมือนกัน ประกอบกับเราชอบเสื้อผ้าแนว Visual Kei จากฝั่งญี่ปุ่นด้วย 

เราได้เรียนรู้เรื่องการทำเสื้อผ้าแบบ Conceptual Design ซึ่งไม่ใช่แค่การดีไซน์เสื้อผ้าสวยๆ แต่เป็นเสื้อผ้าที่เล่าเรื่องราวบางอย่างในใจ ตอนทำธีสิส เราก็ทำคอลเลกชั่นเสื้อผ้า Sustainable Design ที่เล่าเรื่องโรคซึมเศร้าซึ่งเราเผชิญตอนเรียน



แล้วความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับสิ่งพิมพ์อิสระล่ะ เริ่มต้นตอนไหน

หลังจากเรียนจบ เราไปทำงานเป็น Project Coordinator ที่ Spacebar Design Studio ดูแลทั้งเว็บไซต์และสิ่งพิมพ์อิสระ ช่วยให้คำแนะนำกับศิลปินที่อยากทำซีน (zine) ในเรื่องรูปเล่มและกระดาษที่เหมาะกับการเล่าเรื่องของเขา

ทำงานได้ไม่ถึงปีเราก็ไปเรียนต่อด้านแบรนด์ดิ้งที่ลอนดอนตอนปี 2019 เพราะเราอินเรื่องคอนเซปต์และการตลาด ยิ่งได้มาจับงานสิ่งพิมพ์อิสระ คลุกคลีกับศิลปินที่ทำงานพิมพ์ที่ไม่ได้แมส มันทำให้เรารู้สึกอยากช่วยให้คอมมิวนิตี้นี้ได้เติบโต พูดง่ายๆ คืออยากเรียนแล้วกลับมาช่วยเพื่อนให้เขาขายงานตัวเองได้ง่ายขึ้น อยากให้คนได้เห็นงานของเขามากขึ้น


ตอนเรียนที่อังกฤษ ค้นพบอะไรบ้าง

ตอนเรียนแบรนด์ดิ้ง เราค้นพบว่าเราเองก็เป็นศิลปินเหมือนกัน ตอนนั้นเราเข้าใจว่าเราหายจากโรคซึมเศร้าแล้วแต่ปรากฏว่าตอนที่ไปอยู่ที่นั่นอาการของโรคซึมเศร้าก็ยังกลับมาเป็นช่วงๆ อาการของเราคือหากรู้สึกเศร้า เราจะวาดไม่ได้และเขียนไม่ได้สลับกันไป



ตอนเรียนต้องเขียนเปเปอร์ปริญญาโทเราเลยหันเข้าหาการวาด ประกอบกับตอนนั้นเราลงเรียนวิชาเลือกชื่อ Embodiment and Experience สอนเกี่ยวกับจิตเวชในมุมมองสังคม ศิลปิน คนป่วย ที่คาบเกี่ยวกับเรื่องเพศด้วย เราเดินไปบอกอาจารย์ว่าเราเขียนเปเปอร์ไม่ได้แต่วาดได้ อาจารย์เขาก็ใจดีมาก แนะนำให้เรารู้จักกับ Graphic Journal หรือการเขียนบันทึกเชิงวิชาการผ่านการ์ตูน มันทำให้เราลงลึกเรื่องการวาดและการบอกเล่าเรื่องอาการป่วยผ่านภาพวาดและการสเก็ตช์



เส้นทางการเป็นศิลปินเริ่มต้นจากจุดนั้นเลยใช่ไหม

ใช่ แต่ตอนนี้ก็อยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น ก่อนหน้านี้เราทำงานศิลปะของตัวเองเงียบๆ เพิ่งเริ่มเผยแพร่งานสู่สาธารณะเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้เอง เราเอางานไปออกนิทรรศการ บูธศิลปะ และได้ลองทำสิ่งพิมพ์ของตัวเองออกมาขาย


ตอนนี้รูปแบบของงานศิลปะที่คุณทำเรียกว่าอะไร

เรายังมองว่ามันเป็นงานภาพประกอบอยู่แต่สไตล์ของมันอาจจะนับเป็น  Conceptual Art ได้ เพียงแต่มันเป็นงานคอนเซปต์ชวลอาร์ตที่เน้นการสำรวจและเล่าเรื่องราวส่วนตัว จริงๆ เป้าหมายของเราคือการทำ Graphic Novel แต่เรายังไปไม่ถึงจุดนั้น
ลายเส้นของเราจะค่อนข้างเหมือนมังงะ เพราะเราได้รับอิทธิพลจากงานฝั่งญี่ปุ่นมาเยอะ โดยเฉพาะอาจารย์ Yazawa Ai ผู้เขียน NANA เราเติบโตมากับงานของเขา แต่ในขณะเดียวกันองค์ประกอบของภาพและเรื่องราวข้างในหนังสือของเราก็ไม่ใช่การ์ตูนญี่ปุ่นจ๋าขนาดนั้น มันจะแปรผันไปตามสิ่งที่เราสนใจ


เท่าที่เห็นในงานของคุณ คุณมักเล่าเรื่องสุขภาพจิต เพศ การรักตัวเอง และการใช้ชีวิตในระบบทุนนิยม ทำไมถึงอยากเล่าประเด็นเหล่านี้ผ่านภาพวาด

อาจมองได้ 2 มุม มุมแรกคือเราต้องทำงานศิลปะเพื่อพยุงตัวเองให้ใช้ชีวิตได้ต่อไปอยู่แล้ว มันเป็นไปตามธรรมชาติ (หัวเราะ) ภาพที่เราวาด ไม่ว่าจะเป็นภาพตัวตนที่เปลือยเปล่าหรือเซ็กซ์ซีน (sex scene) มันก็ข้องเกี่ยวกับบาดแผลทางจิตใจเรื่องเพศ ความรัก และความสัมพันธ์ที่เรามี



ทั้งศิลปะ การเล่าเรื่อง และการวาดภาพ มันกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราไปแล้ว เรารู้สึกว่าการที่เราทำงานศิลปะ มันทำให้ความเศร้าและบาดแผลในจิตใจที่เกิดขึ้นในชีวิตมันมีความหมาย บาดแผลเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อให้เราพัง มันเกิดขึ้นเพื่อให้เราเล่าเรื่องในมุมมองของเรา การทำงานศิลปะทำให้เราตัดสินสถานการณ์ที่เป็นบาดแผลทางจิตใจน้อยลง และให้มุมมองใหม่ที่ทำให้ชีวิตของเรารู้สึกเติมเต็มมากขึ้น

อีกมุมคือเราอยากให้ภาพประกอบของเราเยียวยาคนอื่นด้วย และเราจะทำสิ่งนั้นได้ด้วยการเผยแพร่งานออกไป แน่นอนว่าเมื่อเป้าหมายเป็นแบบนี้ ในงานที่เผยแพร่ก็จะมีรายละเอียดที่ต้องปรับให้แตกต่างจากงานที่เราวาดเพื่อเยียวยาตัวเองในไดอารี่ซึ่งเป็นงานยากสำหรับเราเหมือนกัน



ยากอย่างไร

อย่างงานปรินท์ชุดหนึ่งที่เล่าเรื่องเซ็กซ์ของชาวเควียร์ เราวาดด้วยความรู้สึกโหยหาความสัมพันธ์ที่ปลอดภัยเมื่ออยู่ในเพศสภาพของตัวเอง มันจะมีส่วนหนึ่งของตัวเราอยู่ในนั้น สะท้อนความทรงจำดีๆ ที่เราเคยร่วมรักกับคนที่มีเพศสภาพเหมือนกัน แต่ในขณะเดียวกัน เวลาเราวาด เราก็จะระวังมากๆ ว่าภาพเปลือยเปล่าในงานของเราจะไม่ถูกลดทอนให้เป็นแค่วัตถุทางเพศ ทำยังไงให้มันยังมีความเป็นมนุษย์อยู่ในนั้น หรือเราจะทำยังไงให้ตัวเองไม่เผลอวาดด้วย male gaze (มุมมองของผู้ชายที่มองผู้หญิงเป็นอาหารตา)


มุมมองเรื่องเพศและการนิยามอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองว่าเป็นเควียร์-นอนไบนารี่ ส่งผลต่อการทำงานศิลปะของคุณบ้างไหม

ค่อนข้างมาก เอาง่ายๆ ตอนนี้งานศิลปะส่วนใหญ่ที่เราทำคือการทำความเข้าใจบาดแผลทางจิตใจเกี่ยวกับเรื่องเพศ ก่อนที่เราจะยอมรับด้านที่เป็นนอนไบนารีของเรา เราก็เคยบังคับตัวเองให้อยู่ในความสัมพันธ์แบบสเตรทมาก่อน มันก็จะมีบาดแผลหลายอย่าง ทั้งเรื่องคอนเซนต์และการโดนล่วงละเมิดทางเพศ  เมื่อเราเจอชุดประสบการณ์เหล่านี้แล้วใช้ศิลปะเพื่อทำความเข้าใจมัน

มันกลับกลายเป็นว่าทำให้เราหลงใหลในเรื่องเศร้าและบาดแผลทางจิตใจของตัวเอง เราต้องหามุมมองใหม่เรื่อยๆ เพื่อสร้างงาน เพราะฉะนั้น เรื่องเพศจึงเป็นเหมือนศูนย์กลางของการทำงานศิลปะของเราไปเลย



นอกจากคุณ ศิลปินรุ่นใหม่หลายคนใช้ภาพวาดเพื่อสื่อสารเรื่องหนักๆ ในใจ คุณคิดว่าเป็นเพราะอะไร

เรามองว่า Illustration คือศิลปะ บางครั้ง หากเราบอกคนอื่นด้วยวิธีอื่นอาจจะไม่มีคนฟัง แต่ศิลปะคือพื้นที่เดียวที่เราใช้พูดเรื่องในใจได้ มันคือพื้นที่อิสระที่เอื้อให้เราได้ค้นหาตัวเอง เล่าเรื่องตัวเอง และนำเสนอตัวเองได้ ส่วนทำไมภาพวาดถึงฮิตขึ้นมาในหมู่คนเจนฯ ซี เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน (หัวเราะ)


นี่คือปีแรกที่คุณได้เข้าร่วมออกบูธในงาน BANGKOK ART BOOK FAIR อะไรดึงดูดให้คุณสนใจส่งใบสมัครเข้ามา

ตอนที่ทำงานที่ Spacebar Design เราเคยไปช่วยงานที่บูธของเขาในงาน BANGKOK ART BOOK FAIR เรารู้สึกว่าเป็นงานที่เจ๋งมากเลย เพราะเป็นคอมมิวนิตี้ของคนที่รักในสิ่งพิมพ์อิสระจริงๆ เราได้เจอซีนใหม่ๆ เจ๋งๆ เยอะมากทำให้เรากลายเป็นคนที่ชอบสะสมซีนด้วย ตอนไปต่างประเทศก็ซื้อเก็บตลอด

การได้มาออกงาน BANGKOK ART BOOK FAIR จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายชีวิตของเราเลย


ช่วยเล่าเกี่ยวกับผลงานที่จะนำมาออกบูธในงานให้ฟังหน่อยได้ไหม

ผลงานที่จะนำมาออกงานครั้งนี้ล้วนเป็นเรื่องราวที่เราอยากพูด ประกอบกับช่วงนี้เราหลงใหลในศิลปะริโซกราฟด้วย งานจึงเน้นไปที่ริโซกราฟเสียเยอะและมีบางงานที่เคยผ่านการจัดนิทรรศการมาก่อนเช่นกัน



ชุดแรกเป็นโปสการ์ดชื่อ ‘Angel in my room’ มี 3 ชิ้น เล่าถึงช่วงเวลาที่เราอยู่คนเดียวและต้องดีลกับความเศร้า จริงๆ จุดเริ่มต้นตลกมากคือเราร้องไห้เยอะแล้วก็ตั้งคำถามว่าผีในห้องจะกลัวเราไหม บวกกับเรามีความเชื่อว่าตัวเราจะมีอีกเวอร์ชั่นของเราที่ดีกว่า แฮปปี้กว่า เป็น Higher Self ที่มองไม่เห็นคอยให้กำลังใจเราอยู่ เราเลยตีความออกมาเป็นภาพวาดชุดนี้

ในช่วงที่ป่วยเราพยายามหาทางเยียวยาด้วยวิธีการหลายแบบ และการอ่านไพ่เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้เราค้นหาเรื่องราวภายในจิตใจ งานชุดที่ 2 ที่จะนำไปแสดงชื่อ ‘Origin of Love’ เป็นภาพวาดส่วนหนึ่งของนิทรรศการที่เราเคยไปจัดกับเพื่อนที่ Rebel Art Space ชุดนี้เกิดจากการตั้งคำถามเกี่ยวกับความรักที่อยู่ในขนบชายหญิง หรือความรักที่เราจะต้องเจออีกครึ่งของตัวเองซึ่งเป็นเพศตรงข้าม เรารู้สึกว่าเรื่องเล่านี้ไม่ได้ครอบคลุมชาวเควียร์หรือคนที่มีมุมมองด้านความรักที่แตกต่างออกไป



ในงานนี้เราใช้คอนเซปต์ของเพลโตที่บอกว่าผู้ชายมาจากดวงอาทิตย์ ผู้หญิงมาจากดาวโลก และเพศก้ำกึ่ง (Androgyne) มาจากดวงจันทร์ และนำสีและสัญลักษณ์เหล่านี้มาใช้เล่าเรื่องราวใหม่ในรูปแบบไพ่ทาโรต์ และใส่สัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับเควียร์ลงไป เพื่อสื่อสารว่าความรักของชาวเควียร์และความรักแบบอื่นๆ นั้นมีอยู่จริงและถูกต้องเหมือนกัน



อีกชุดคือเซ็ต ‘เลือดเดือน’ ที่กำลังจัดแสดงที่คาเฟ่ day/dm ซึ่งเขาให้โจทย์มาว่าเป็นการเฉลิมฉลองเลือดเดือนของคนที่ไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นผู้หญิงแต่มีมดลูก สุดท้ายเราทำงานที่มีส่วนประกอบทั้งกราฟิกและบทกวีเพื่อเล่าเรื่องที่สังคมห้ามพูด (taboo) และสะท้อนประสบการณ์ตัวเองเกี่ยวกับเลือดเดือน เช่น ช่วงที่เราโหยหาเซ็กซ์ตอนก่อนประจำเดือนมา หรือช่วงที่เราต้องอดทนทำงานให้ได้ตอนปวดประจำเดือน นอกจากนี้ก็จะมีเซตสติกเกอร์ชุด ‘Dark Night of The Soul’ ที่ทำขึ้นมาเพื่อไปขายในงานด้วย เล่าถึงช่วงเวลามืดมนที่เราตั้งคำถามกับความหมายของชีวิตและต้องให้ความหมายใหม่


พอได้มาจับงานสิ่งพิมพ์จริงจัง เสน่ห์ของงานสิ่งพิมพ์อิสระที่คุณเห็นคืออะไร

ส่วนมากเราจะวาดแบบดิจิตอล ภาพที่เราเห็นบนหน้าจอก็จะเป็นสี RGB แต่พอเราได้รู้จักงาน Risograph เราก็ได้เห็นสีภาพอีกแบบหนึ่งที่เปลี่ยนไปเลยโดยสิ้นเชิง ด้วยความไม่เสถียรบางอย่างในกระบวนการ เช่น ลูกกลิ้งที่พิมพ์สีไม่เท่ากัน เก็บรายละเอียดได้ไม่เยอะ ถ้านำไปใช้กับสิ่งพิมพ์ที่เป็น mass-produced เราคิดว่าทำไม่ได้ เพราะชิ้นงานอาจจะไม่เสถียร (หัวเราะ) แต่เราคิดว่ามันสวยมาก และทำให้คนเป็นศิลปิน enjoy the process ด้วย



ในมุมมองของคุณ สิ่งพิมพ์อิสระสำคัญกับสังคมอย่างไร

สำคัญมาก อย่างเราเพิ่งเริ่มมาทำงานสิ่งพิมพ์อิสระได้ไม่กี่เดือน ยังหาทางของตัวเองอยู่ด้วยซ้ำ พอได้มาทำสิ่งพิมพ์อิสระมันก็ช่วยให้เราได้ค้นหาตัวเองได้ เรารู้สึกว่ายังมีคนที่อยากทำงานแบบนี้แต่ไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นศิลปิน หรือคนที่เขามีเรื่องที่อยากเล่าแต่ไม่รู้จะทำยังไง เช่น บางคนอาจจะชอบกงยูมากและอยากทำซีนขึ้นมาเล่มหนึ่งเพื่อกงยูเลย สิ่งพิมพ์อิสระช่วยให้เขาเล่าเรื่องนี้ออกมาได้ และเขาจะเอนจอยกับกระบวนการเหล่านั้นได้ด้วย

เราคิดว่ามนุษย์ทุกคนควรจะมีพื้นที่ในการทำสิ่งนี้นะ ทุกคนควรมีพื้นที่ที่มีกฎเกณฑ์น้อยและมีคอมมิวนิตี้ที่ให้อิสระกับเรา อย่างตัวเราเอง เราต้องสำรวจลงไปในความเจ็บปวดของตัวเอง และสิ่งพิมพ์อิสระทำให้เรายินดีที่จะทำมัน ซึ่งถ้าเราใช้การเล่าผ่านสิ่งพิมพ์ที่เป็น mass product อาจจะทำได้ยาก


แวดวงสิ่งพิมพ์อิสระที่คุณอยากเห็นมีหน้าตาเป็นอย่างไร

เราอยากเห็นสิ่งพิมพ์อิสระได้รับการสนับสนุนจากรัฐหรือจากองค์กรทางวัฒนธรรมมากกว่านี้ เพราะตอนนี้หากมองสิ่งพิมพ์อิสระ คนจะมองว่าซื้อไปสะสมเหรอ ซื้อไปทำไม มันไม่ใช่หนังสือขายดี มันยังมีความนิช (niche) อยู่มากๆ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว มันมีความเป็นมนุษย์มากเลย

เรามองว่ากลุ่มคนที่ทำตรงนี้เรามีแพสชั่น มีเรื่องเล่า และเราทุ่มเงิน ทุ่มแรง ทุ่มเวลาเพื่อจะมาทำงานตรงนี้ และเราเป็นคอมมิวนิตี้ใหญ่มากๆ ด้วย เราจึงอยากให้มันเอื้อมถึงได้ง่ายกว่านี้ เพราะเรื่องราวที่นิชเหล่านี้ควรจะได้รับการมองเห็น