BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 |  

︎BKKABF2023 VISIT

Venue : Asia Hotel Bangkok


Event Dates :

BKKABF Symposium :
Thursday 30.NOV.2023
13.00 – 17.00

BKKABF Fair Dates :
Friday 01.DEC. – Sunday 03.DEC.2023

BKKABF Fair Hours :
13.00 – 20.00

Ticket :
General Public : 150 THB/day
Students : 100 THB/day
Children Under 12 : Free entry
For more information, please contact :
contact@bangkokartbookfair.info

© 2023 BKKABF
Initiated by STUDIO150 in partnership with BANGKOK CITYCITY GALLERY since 2017, BANGKOK ART BOOK FAIR (BKKABF) is an annual event aimed to bring together self-publishing and co-creating community to contribute in discovering and exchanging ideas, cultural ideals, and artistic aspirations.


A
BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 |  

︎UPDATE  ︎EXHIBITOR  ︎VISIT
︎PAST EVENT

A
A


ช่างภาพ, ศิลปิน, ดีไซเนอร์, บรรณาธิการ, สำนักพิมพ์, โรงพิมพ์ เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของตำแหน่งที่ปรากฏในหน้าท้ายเครดิตของหนังสือภาพ CUMULUS โดย หฤษฏ์ ศรีขาว ภายใต้การดูแลของ Bad Eyes กลุ่มคอลเล็คทีฟภาพถ่ายที่ขณะนี้มีบทบาทเพิ่มเติมในฐานะ ‘สำนักพิมพ์’ ที่จัดจำหน่าย ‘หนังสือภาพ’ โดยเฉพาะ

Bad Eyes คือการรวมตัวของช่างภาพจากไทย เวียดนาม เมียนมาร์ อินเดีย และสเปนที่ล้วนแล้วแต่ตั้งคำถามกับภาพถ่ายที่ดีงามตามขนบและอยากสร้างสรรค์งานที่แตกต่างหลากหลาย งานของพวกเขามีทั้งที่เผยแพร่ออนไลน์ จัดแสดง จนถึงทำหนังสือภาพ self-published



ล่าสุดพวกเขาเพิ่งเพิ่มบทบาทใหม่ในฐานะสำนักพิมพ์ ตีพิมพ์หนังสือเล่มแรกในชื่อ CUMULUS ซึ่งเพิ่งเปิดตัวพร้อมกับการจัดแสดงดนตรี ฉายภาพยนตร์ และเปิดสตูดิโอโชว์ผลงานอื่นๆ ของหฤษฎ์ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

และในวันที่ 1-3 ธันวาคมนี้ CUMULUS ก็จะถูกจัดแสดงใน BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 ซึ่งเป็นเหตุผลที่เราเดินทางมาคุยกับ แดเนียล หรือ Daniel Huete และ ไหม–ณัฐธยาน์ ไทยเดชา สองตัวแทนผู้ก่อตั้ง Bad Eyes ถึงคอนโดริมน้ำย่านตลาดน้อยที่พวกเขาใช้เป็นสตูดิโอทำงานไปในตัว



ท่ามกลางหนังสือภาพนับร้อยที่พวกเขาสะสมและวางทับถมอยู่ในมุมนั้นมุมนี้ของห้อง สองช่างภาพ ‘ตาไม่ดี’ เริ่มต้นเล่าให้เราฟังว่าพวกเขามารวมตัวกันได้อย่างไร สำนักพิมพ์ของพวกเขาเกิดขึ้นและดำรงอยู่ด้วยความเชื่อแบบไหน และพวกเขาอยากเห็นอะไรในวงการภาพถ่ายไทย


BAD EYES : จุดรวมพลของคนตาเสีย

“ไอเดียของ Bad Eyes เริ่มขึ้นหลังจากที่เราเข้าร่วมเวิร์คช็อปกับ Antoine d’Agata ช่างภาพจาก Magnum Agency ที่มาสอนที่กรุงเทพฯ ตอนนั้นเราตั้งถามกับนิยามของภาพที่สวยสมบูรณ์แบบ และคำถามว่าอะไรคือสิ่งสำคัญของภาพถ่าย ทำไมเมื่อก่อนตัวเราถึงให้ความสำคัญกับภาพที่ดีที่สุดภาพเดียว ผู้คนรอบตัวเราก็มีความคิดที่คล้ายกัน เราเลยชวนคนเหล่านั้นมาทำกลุ่มคอลเล็คทีฟในชื่อ Bad Eyes” แดเนียล อธิบายถึงความเป็นมา

“เรามักเคยได้ยินว่าถ้าคุณเป็นช่างภาพ คุณจะต้องมีตาที่ดี (good eyes) ถึงจะสามารถถ่ายภาพที่สมบูรณ์แบบได้ ดังนั้น Bad Eyes จึงเป็นชื่อที่ตั้งเพื่อสื่อสารถึงความเป็นขบถและการต่อต้านภาพถ่ายแบบที่ถูกมอง ‘ดี’ ในกระแสหลัก หรือภาพถ่ายแบบที่คนคุ้นเคย”



‘ผู้คนรอบตัวที่มีแนวคิดคล้ายกัน’ ซึ่งมารวมตัวกันในชื่อ Bad Eyes มีทั้งช่างภาพไทยและเทศอย่างแดเนียลและไหม ร่วมกับ Min-Ma Naing, Miên-Thụy Trần, Rohit Saha, Duy Ðào, และ Swastik Pal

สำหรับคอลเล็คทีฟงานภาพถ่าย หากอธิบายสั้นๆ คือการรวมตัวของคนที่เชื่อในสิ่งเดียวกันหรืออยากนำเสนอภาพถ่ายในแนวทางที่คล้ายกัน โดยแนวทางของ Bad Eyes คือการเปิดพื้นที่ให้ช่างภาพได้นำเสนอภาพถ่ายชวนจินตนาการ และทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็นหรือถกเถียงกันในเรื่องภาพถ่ายที่ดี

แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่พวกเขาอยากนำเสนอคือภาพถ่ายที่เล่า ‘เรื่องราวส่วนบุคคล’ เผื่อว่าเรื่องราวเหล่านั้นจะทาบทับกับชีวิตของผู้ชมภาพ ทำให้ฉุกคิดถึงเศษเสี้ยวชีวิตที่ผ่านมา เช่น ภาพถ่ายชุด AS SHE CALLS HER BREATH BACK ของไหมซึ่งนำเสนอภาพธรรมชาติแบบที่ผู้ชมอาจจะไม่คุ้นเคย ในภาพชุดนี้ เราจะไม่เห็นต้นไม้สีเขียว ท้องฟ้าสีฟ้า หรือหาดทรายและทะเล แต่เราจะได้ดูภาพโลกอันบิดเบี้ยวและสีสันผิดธรรมชาติ เป็นดั่งการบรรยายความรู้สึกและความสนใจของไหมเรื่องธรรมชาติของการมีอยู่และชีวิตหลังดับสูญ หลังเธอต้องเผชิญกับการสูญเสีย



FROM BAD EYES TO (GOOD) HANDS : จากตาสู่มือ

หากพูดถึงช่องทางในการนำเสนองานของช่างภาพในยุคนี้คงหนีไม่พ้นแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเฉพาะอินสตาแกรมที่หลายคนใช้แทนพอร์ตโฟลิโอ สำหรับ Bad Eyes พวกเขาไม่ปฏิเสธแพลตฟอร์มเหล่านี้แต่ในขณะเดียวกันก็ผลิตผลงานภาพถ่ายในรูปแบบสิ่งพิมพ์ self-published ควบคู่กันมาอย่างต่อเนื่อง

“การโพสต์ภาพถ่ายออนไลน์เป็นชุด 3-5 ภาพมันเวิร์กกับการสไลด์ดูในช่วงเวลาสั้นๆ ทำให้เราได้เห็นว่าภาพถ่ายแบบนี้ก็มีด้วย ถึงอย่างนั้นภาพถ่ายก็มีเรื่องราวมากกว่านั้น หากมันอยู่ในรูปแบบของหนังสือภาพ เราสามารถเปิดไปทีละหน้าตามที่ศิลปินตั้งใจเรียง หยุดดูมัน และอาจจะพลิกกลับมาหาความเชื่อมโยงในหน้าก่อนและเปิดต่อไปเรื่อยๆ



ตั้งแต่ปี 2563 Bad Eyes ผลิตหนังสือภาพแบบ self-published มาแล้ว 5 เล่ม และได้เรียนรู้กระบวนการพิมพ์หนังสือด้วยตัวเองอย่างถ่องแท้ เริ่มตั้งแต่การถ่ายภาพ คิดการจัดวางภาพในแต่ละหน้า ออกแบบรูปเล่ม หาโรงพิมพ์ ตลอดจนการจัดจำหน่ายด้วยตัวเอง ก่อนที่ในปีนี้พวกเขาจะขยายขอบเขตของ Bad Eyes ไปรับบทบาท ‘สำนักพิมพ์โฟโต้บุ๊ค’ และร่วมงานกับช่างภาพที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของคอลเล็คทีฟ

แดเนียลและไหมเล่าว่าความแตกต่างระหว่างการพิมพ์หนังสือของตัวเองและการเป็นสำนักพิมพ์คือ การพิมพ์หนังสือของตัวเองยังพอมีพื้นที่ให้พวกเขาผิดพลาดและพัฒนาได้ แต่เมื่อรับบทบาทหน้าที่ในฐานะสำนักพิมพ์ พื้นที่แห่งการทดลองนั้นก็แคบลงและถูกแทนที่ด้วยพื้นที่แห่งความแม่นยำถูกต้อง นอกจากนี้ สิ่งแวดล้อมของการทำหนังสือด้วยตัวเองกับการเป็นสำนักพิมพ์ก็แตกต่างกัน

“สองสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในการทำหนังสือ self-published และการเป็นสำนักพิมพ์คือเรื่อง เงินและความรู้ การทำหนังสือภาพหนึ่งเล่มในฐานะสำนักพิมพ์ต้องใช้เงินมากกว่าเดิมเพื่อสนับสนุนกระบวนการในทุกภาคส่วน และเราต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการทำหนังสือที่ทวีคูณข้อมูลขึ้นไปอีก”



เมื่อเห็นความตั้งใจของทั้งคู่ในการผลิตหนังสือภาพที่ดีภายใต้สำนักพิมพ์ของพวกเขา เราคงต้องขอถามว่าแล้วภาพถ่ายแบบไหนหรือการทำงานแบบใดถึงจะเข้าตากรรมการ ทำให้ได้ไปต่อในรอบไฟนอลกับชาว Bad Eyes ได้

“เราอยากทำงานกับช่างภาพที่ทำงานอย่างจริงใจกับผลงานตัวเอง และไม่ได้มองเพียงว่า ฉันถ่ายภาพนี้เจ๋งดี แต่ต้องการที่จะสื่อสารอะไรบางอย่างผ่านงาน มีความตั้งใจอยากจะทำงานให้สำเร็จ พร้อมที่จะลองผิดลองผิดลองถูก และพร้อมที่จะทำงานไปกับเรา”

“เราใช้เวลานานมากในการพูดคุยกับช่างภาพเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นหนังสือหนึ่งเล่ม สำหรับ CUMULUS เราใช้เวลากว่า 10 ชั่วโมงต่อหนึ่งครั้งในการพูดคุยกับหฤษฎ์ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในภาพเหล่านั้น สิ่งที่เขาต้องการจะเล่า เราทำงานกันยาวนาน แทบทุกวันตลอด 8 เดือนจนได้หนังสือเล่มนี้มา”



CUMULUS คือหนังสือที่ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ทั้งสองพูดได้อย่างเต็มปากว่าเป็นหนังสือภาพที่พวกเขาภาคภูมิใจ ทั้งในแง่ของเทคนิครูปเล่มและเนื้อหาที่ตรงกับจุดประสงค์ของคอลเล็คทีฟ คือการบันทึกสื่อสารเรื่องราวส่วนบุคคลผ่านภาพถ่ายและเปิดให้ผู้รับชมได้ตีความต่อไปไม่สิ้นสุด

“ภาพทั้งหมดที่อยู่ในเล่มคือการเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของหฤษฎ์ ศรีขาว เราได้เห็นผู้คนรอบตัวเขาก่อนและหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 พอเวลาผ่านไป ภาพทั้งหมดนี้ทำให้เราได้ย้อนมองสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น เห็นการเติบโตของเด็กคนหนึ่งสู่การเป็นผู้ใหญ่ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่อาชีพศิลปิน และความทรงจำร่วมกันบางอย่างที่อาจทำให้คนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ได้รับกลับไป”

แดเนียลเล่าเสริมอีกว่าในฐานะสำนักพิมพ์ พวกเขาทำงานจากสองสถานที่ เขาและไหมเป็นทีมที่ประจำอยู่ที่กรุงเทพส่วน Rohit กับ Swastik ประจำอยู่ที่อินเดีย ทั้งสองคนนี้ทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อกับช่างภาพที่อยู่ในละแวกเอเชียใต้อย่างอินเดีย เนปาล และบังกลาเทศ เป็นต้น ซึ่งการทำงานคู่ขนานทั้งสองที่นี่ทำให้ Bad Eyes มีโอกาสในการเลือกงานที่น่าสนใจสำหรับการผลิตผลงาน และสร้างความหลากหลายของภาพถ่ายผ่านตัวช่างภาพที่มาจากต่างวัฒนธรรม


ARE BAD EYES IN A BAD SYSTEM?

“สิ่งที่ประเทศไทยไม่ขาดเลยคือช่างภาพที่มีฝีมือในการทำงาน แต่เราขาดจำนวนเงินที่จะเข้ามาลงทุนในชิ้นงานประเภทนี้” แดเนียลกล่าว

ไหมเสริมว่าสิ่งที่อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และวงการสร้างสรรค์ในไทยยังขาดหายไปคือเงินสนับสนุนเพิ่มเติมจากภาครัฐ แน่นอนว่าหนังสือเล่มนี้ได้รับการสนับสนุนจาก ARTTACA (แพลตฟอร์มภาพถ่ายจากประเทศฮ่องกง) และสมาคมภาพถ่ายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมถ์ แต่โดยรวมแล้ว ผู้ที่ต้องการการสนับสนุนในประเทศก็ยังมากกว่าผู้สนับสนุนอยู่ดี



ถึงอย่างนั้น คนทำงานก็ยังคงต้องเดินหน้าต่อไป Bad Eyes มองว่าประเทศไทยมีคนทำงานที่มีความสามารถเป็นทุนเดิม หากมีการเปิดพื้นที่ให้เกิดการพูดคุยถึงงานภาพถ่ายได้อย่างตรงไปตรงมาวงการภาพถ่ายก็จะค่อยๆ ขยายขึ้นได้ พวกเขาจึงพยายามสร้างพื้นที่ให้คนสามารถมาพูดคุย ถกเถียง ออกความเห็นต่อภาพถ่าย แดเนียลเล่าว่ากระบวนการนี้สำคัญมากเพราะหากสร้างงานแล้วขาดคนพูดคุย เสียงสะท้อน หรือการวิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ วงการก็จะย่ำอยู่ที่เดิมไม่เกิดการพัฒนาให้ไปต่อ

นอกจากนี้พวกเขายังพยายามสร้างกิจกรรมทางการศึกษาเกี่ยวกับภาพถ่ายให้กับช่างภาพที่อยากพัฒนางานอีกด้วย เช่น การจัดเวิร์คชอปทั้งแบบมีค่าใช้จ่ายและไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อให้ครอบคลุมคนที่หลากหลายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

และสิ่งสำคัญที่พวกเขาพยายามในฐานะสำนักพิมพ์คือการหา ‘จุดที่ดีที่สุด’ ของหนังสือ นั่นคือการผลิตที่คงไว้ซึ่งคุณภาพของงานภาพถ่ายและการคำนวณต้นทุนเพื่อให้ราคาขายไม่สูงจนเกินไป เพราะพวกเขามองว่าหนังสือภาพอาจเป็นประตูบานแรกที่เชื้อเชิญให้ผู้คนเข้ามาสนใจงานภาพถ่ายและให้ความสนใจกับศิลปะแขนงนี้ จากนั้นเมื่อมีคนเห็นถึงความสำคัญของงานภาพถ่ายมากยิ่งขึ้น เกิดการเปิดประเด็นและข้อถกเถียง วงการก็จะพัฒนา และผู้สนับสนุนปัจจัยด้านต่างๆ รวมถึงเงินทุนก็จะตบเท้าเข้าสู่วงจรการสร้างสรรค์ผลงานภาพถ่ายมากขึ้นเช่นกัน



เพื่อให้หนังสือมีราคาสมเหตุสมผล คือเหตุผลที่ CUMULUS ถูกส่งไปผลิตไกลถึงอินเดีย

“แน่นอนเราอยากพิมพ์ที่ไทยถ้ามันเป็นไปได้ แต่ที่เราไม่สามารถพิมพ์ CUMULUS ในไทยเพราะภาพของหฤษฎ์ต้องพิมพ์ด้วยหมึกสีพิเศษซึ่งมีราคาสูง ประเภทของกระดาษในเล่มหรือพื้นผิวปกที่เราต้องการ หากพิมพ์ในไทยราคาก็สูงจนเราเอื้อมไม่ถึงเช่นกัน ด้วยความที่เรามีเพื่อนในคอลเล็คทีฟที่พิมพ์หนังสือภาพของเขาที่อินเดีย เราเลยลองไปปรึกษาดูและพบว่าหากผลิตที่อินเดียจะได้สเป็คชิ้นงานที่ตรงใจเราพร้อมกับราคาที่รับได้ ทำให้เราได้บินไปพิมพ์หนังสือภาพเล่มนี้ที่นั่น”

เมื่อไล่มองดูรายละเอียดของหนังสือภาพที่แดเนียลและไหมอธิบายเราก็เห็นว่าปกออกแบบโดย กมลลักษณ์ สุขชัย นั้นถูกพิมพ์ด้วยเทคนิคที่ละเอียดลออจนดูเหมือนกระดาษนั้นชุ่มไปด้วยสีน้ำและเปียกอยู่จริงๆ อันเป็นผลมาจากทำสีและการเลือกเนื้อกระดาษให้เหมาะสมกับภาพ



“เรามีความตั้งใจที่อยากให้หนังสือภาพเป็นสิ่งที่ไม่ได้ทำเพื่อให้คนในวงการภาพถ่ายดูกันเอง แต่เราอยากให้หนังสือของเราอยู่ในมือคนหลากหลายกลุ่ม เราไม่อยากให้มองว่าภาพถ่ายหรือหนังสือภาพเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก เริ่มจากเรื่องที่ตัวเองสนใจก่อนก็ได้ แล้วลองเปิดดูงานที่เราชอบรองลงมาหรือไม่ชอบเลยเพื่อเรียนรู้วิธีการนำเสนอและรูปแบบอื่นๆ ในการเล่าเรื่อง เพื่อการเรียนรู้และพัฒนางานต่อไป” ไหมกล่าว ก่อนที่แดเนียลจะเสริมทิ้งท้าย

“เราสะสมหนังสือเพราะมันสวยงามและทำให้เรารู้สึก ขณะนี้ที่เราเป็นคนทำหนังสือเราก็ทำด้วยความรู้สึกว่ามันจะเข้าไปอยู่ในชั้นสะสมของผู้ที่หยิบมันไปด้วยเช่นกัน เราอยากทำหนังสือภาพที่ดีที่สุด ที่เล่าเรื่องของช่างภาพคนนั้นได้จริงใจที่สุด และส่งมันไปถึงคนที่อ่าน”